พระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๒
พระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๒ เมื่อก่อนเสด็จผ่านพิภพ
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ประสูติเมื่อ ณ วันพุธ ที่ ๒๖ เดือน กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๓๑๐ ตรงกับวันทางจันทรคติ เดือน ๔ ขึ้น ๗ ค่ำ ปีกุน นพศก จุลศักราช ๑๑๒๙ (ค.ศ. ๑๗๖๗) ในสมัยเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เสด็จดำรงตำแหน่งยศเป็นที่หลวงยกกระบัตรเมืองราชบุรี แลมีนิวาสสถานอยู่ ณ บ้านอัมพวา ในเวลานั้นกรุงเก่าพึ่งเสียแก่พม่าข้าศึกใหม่ๆ กำลังไทยพยายามจะเป็นอิสระ แต่ยังแยกกันเป็นหลายพวกหลายเหล่าอยู่ ครั้นปีชวดสัมฤทธิศก พ.ศ. ๒๓๑๑ พระเจ้ากรุงธนบุรีเป็นที่มั่น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก จึงเสด็จเข้ามารับราชการในพระเจ้ากรุงธนบุรี ย้ายนิวาสสถานเข้ามาตั้งอยู่ที่ใต้วัดระฆังโฆสิตาราม ครั้งนั้นยังเรียกว่า วัดบางว้าใหญ่ คือที่โรงทหารเรือทุกวันนี้ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยพระชันษาได้ ๒ พรรษา ก็เสด็จโดยเข้ามาอยู่กรุงธนบุรีด้วย ครั้นทรงพระเจริญขึ้น พระชันษาสมควรแก่การศึกษา สมเด็จพระบรมชนกนาถได้ทรงนำไปฝากให้ทรงศึกษาอักขรสมัย ในสำนักพระวันรัตน์ (ทองอยู่) วัดบางว้าใหญ่
เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงทำศึกสงครามในกรุงธนบุรีนั้น ตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้ ๘ พรรษา ก็ได้โดยเสด็จติดพระองค์สมเด็จพระบรมชนกนาถไปในการสงครามทุกครั้ง ตั้งแต่ต้นขึ้นไปรบพม่าที่เมืองเชียงใหม่ แล้วกลับลงมารบพม่าที่บ้านนางแก้วเขาชงุ้มเมืองราชบุรี แล้วกลับขึ้นไปรักษาเมืองเชียงใหม่อีก จนลงมาบอแซวุ่นกี้ที่เมืองพิษณุโลก ต่อนั้นมาได้โดยเสด็จคราวไปปราบปรามเมืองนางรอง เมืองนครจำปาศักดิ์ แลไปตีกรุงศรีสัตนาคนหุตครั้งได้พระมหามณีรัตนปฏิมากรแก้วมรกตเสด็จกลับมาถึงกรุงธนบุรี พอพระชันษาพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้ ๑๓ พรรษา สมเด็จพระบรมชนกนาถ จึงจัดพิธีโสกันต์ ต่อมาอีกปี ๑ ก็เสด็จโดยสมเด็จพระบรมชนกนาถคราวยกกองทัพออกไปกรุงกัมพูชา ในระหว่างนั้นข้างกรุงธนบุรีเกิดจลาจลขึ้น ด้วยพระเจ้ากรุงธนบุรีมีสัญญาวิปลาส บรรดาข้าราชการจึงพร้อมกันอัญเชิญสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ขึ้นผ่านพิภพเมื่อปีขาลจัตวาศก พ.ศ. ๒๓๒๕ เวลานั้นพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้ ๑๖ พรรษา ปรากฏในคำลูกขุนปรึกษาความชอบผู้ที่สนองพระเดชพระคุณพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกแต่มาก่อน ว่าในบรรดาราชวงศ์มีพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยพระองค์เดียวที่ได้โดยเสด็จติดพระองค์มาในการศึกสงครามทุกครั้งคราว จึงโปรดให้สถาปนาพระเกียรติยศเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าต่างกรม ทรงพระนามว่า เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร ครั้น ณ ปีมะเส็ง สัปตศก พ.ศ. ๒๓๒๘ โปรดให้เสด็จกลับไปประทับ ณ พระราชวังเดิม ของพระเจ้ากรุงธนบุรี ที่ปากคลองบางกอกใหญ่
เมื่อในรัชกาลที่ ๑ นั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้เสด็จโดยกระบวนทัพหลวง ไปทำสงครามกับพม่าข้าศึก ๔ ครั้ง คือไปต่อสู้กับทัพหลวงพระเจ้าปะดุง ที่ตำบลลาดหญ้า แขวงเมืองกาญจนบุรี เมื่อปีมะเส็งสัปตศก พ.ศ. ๒๓๒๘ ครั้ง ๑ ไปต่อสู้ทัพมหาอุปราชา ที่ท่าดินแดงแขวงเมืองกาญจนบุรี เมื่อปีมะเมียอัฐศก พ.ศ. ๒๓๒๘ ครั้ง ๑ ไปตีเมืองทวาย เมื่อปีชวดจัตวาศก พ.ศ. ๒๓๓๕ ครั้ง ๑ เสด็จยกกองทัพหลวงด้วยพระราชประสงค์จะไปตีเมืองอังวะ เมื่อปีฉลูเบญจศก พ.ศ. ๒๓๓๖ ครั้ง ๑ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้โดยเสด็จทั้ง ๔ ครั้ง เมื่อคราวไปตีเมืองทวาย ได้เป็นตำแหน่งยกกระบัตรทัพด้วย
เมื่อปีวอกสัมฤทธิศก พ.ศ. ๒๓๓๑ พระชันษาครบกำหนดที่จะทรงผนวชเป็นพระภิกษุ สมเด็จพระบรมชนกนาถจึงโปรดให้ทรงผนวชที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม สมเด็จพระสังฆราช (สี) วัดระฆังเป็นพระอุปฌาย์ พระญาณสังวรเถร วัดราชสิทธาราม (ซึ่งภายหลังได้เป็นสมเด็จพระสังฆราช) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ทรงผนวชแล้ว วันแรกเสด็จประทับอยู่ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม มีการฉลองเสร็จ จึงเสด็จไปประทับอยู่ ณ วัดสมอราย คือวัดราชาธิวาสในบัดนี้ ทรงศึกษาสมณกิจในสำนักพระปัญญาวิสาลเถร (นาค) ตลอดพรรษา ๑ แล้วจึงลาผนวช
เมื่อในรัชกาลที่ ๑ พระบาทสมเด็จพะรพุทธเลิกศหล้านภาลัยได้สมเด็จพระเจ้าหลานเธอเจ้าฟ้าบุญรอด พระธิดาสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ เป็นพระอรรคชายา มีพระราชโอรส ๓ พระองค์ พระองค์ใหญ่ซึ่งปรากฏพระนามภายหลังว่าเจ้าฟ้าราชกุมาร สิ้นพระชนม์เสียตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ รองลงมา คือ พระบาทสมเด็จพะรจอมเหล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์น้อย คือ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว
ตลอดเวลาในรัชกาลที่ ๑ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก โปรดให้สมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รับราชการใกล้ชิดติดพระองค์อยู่ในราชสำนัก ดูแลการงานต่างพระเนตรพระกรรณตามพระราชประสงค์เสมอมา ถึงปีกุนเบญจศก พ.ศ. ๒๓๔๖ เวลานั้นพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้ ๓๗ พรรษา เป็นเวลาที่บ้านเมืองราบคาบสิ้นเสี้ยนศัตรูภายนอกแล้ว เมื่อกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทประชวรคราวจะสวรรคต มีพระอาการประกอบด้วยทุกขเวทนากล้าพาให้เดือดดาลพระราชหฤทัยอยู่ช้านาน เป็นเหตุให้เจ้านายแลข้าราชการฝ่ายพระราชวังบวร เกิดความคิดผิดไปว่า กรมพระราชวังบวรฯ มีความขัดแค้นในสมเด็จพระเชษฐาธิราชด้วยเหตุอื่น เมื่อกรมพระราชวังบวรฯ ประชวรพระอาการหนักลงพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุโลกมีพระราชประสงค์จะเสด็จขึ้นไปเยี่ยมประชวรแลรักษาพยาบาล ข้าราชการผู้เป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายพระราชวังหลวงจะไปตั้งกองล้อมวงรักษาพระองค์เวลาเสด็จตามประเพณี พวกวังหน้าก็พากันมาห้ามปรามขัดขืน มิให้พวกวังหลวงเข้าไปในพระราชวังบวรฯ เกือบจะเกิดเหตุขึ้น พระบาทสมเด็จพรพุทธเลิศหล้านภาลัยได้ทรงทราบเหตุอันนั้น จึงเสด็จขึ้นไปยังพระราชวังบวรฯ พร้อมด้วยเจ้าพระยารัตนาพิพิธ แลเจ้าพระยายมราช พาข้าราชการขึ้นไปตั้งกองล้อมวง พวกฝ่ายพระราชวังบวรฯก็ยำเกรง มิอาจที่จะเข้ามาขัดขวาง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเสด็จขึ้นไปประทับแรมรักษาพยาบาลสมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรฯอยู่ ๖ วัน จนสวรรคต เมื่อสวรรคตแล้ว ได้ตระหนักว่า พวกฝ่ายพระราชวังบวรฯ มีองค์พระลำดวน พระองค์อินทปัต ซึ่งเป็นลูกเธอในกรมพระราชวังบวรฯ เป็นต้น กับพวกข้าราชการหลายคนคิดการกำเริบกระด้างกระเดื่องในครั้งนั้น จึงได้จับตัวชำระลงพระราชอาญาตามโทษานุโทษ ต่อมาอีก ๓ ปี กรมพระราชวังหลังก็ทรงพระประชวรทิวงคต หมดพระราชวงศ์ที่เป็นชั้นใหญ่
ถึงปีขาลอัฐศก พ.ศ. ๒๓๔๔ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกจึงโปรดให้ตั้งพระราชพิธีอุปราชาภิเษก สถาปนาพระเกียรติยศพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ซึ่งเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิสรสุนทรอยู่ในเวลานั้น ขึ้นเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ที่พระมหาอุปราชผู้รับรัชทายาท แต่ให้คงเสด็จประทับอยู่ที่พระราชวังเดิม มิให้ขึ้นไปประทับ ณ พระราชวังบวรฯ ด้วยสมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ได้กราบทูลไว้แต่เมื่อประชวรหนักว่าขอให้ลูกเธอได้อาศัยในพระราชวังบวรฯ ต่อไป ทั้งทรงพระราชดำริเห็นว่า พระองค์ก็ทรงพระชรามากอยู่แล้ว ไม่ช้านานเท่าใดพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยก็จะได้เสวยราชสมบัติ การย้ายวัง ควรไว้ย้ายเมื่อเสด็จเข้ามาประทับในพระบรมมหาราชวังทีเดียว
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้เป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคลพระชนมายุได้ ๔๐ พรรษา ดำรงพระเกียรติยศเป็นพระมหาอุปราชอยู่ ๓ ปี พระชันษา ๔๓ ได้เสวยราชสมบัติ