ประวัติมูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระมหากษัตราธิราชเจ้ารัชกาลที่ ๒ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจเป็นคุณูปการอย่างใหญ่หลวงต่อประเทศชาติและพสกนิกรไทย ทรงเป็นนักรบที่เข้มแข็ง ได้โดยเสด็จพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช สมเด็จพระบรมชนกนาถ ไปในการพระราชสงคราม ปกป้องผืนแผ่นดินไทยตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ พระชนมพรรษาเพียง ๘ พรรษา ทรงดำเนินวิเทโศบายที่จะรักษาเอกราชของชาติบ้านเมืองไว้ได้เป็นอย่างดี ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณสร้างสรรค์ศิลปวัฒนธรรมไทยอันงดงาม ประณีต และเป็นเอกลักษณ์ของชาติ พระราชทานไว้เป็นมรดกตกทอดมาสู่ประชาชนชาวไทยจนถึงทุกวันนี้ ทรงเป็นเอกอัครศิลปินหลายด้านหลายสาขา ทั้งด้านวรรณกรรม นาฏศิลป์ ดุริยางคศิลป์ ประติมากรรม สถาปัตยกรรม ทรงพระปรีชาถึงขั้นปฏิบัติและสร้างสรรค์ด้วยพระองค์เองได้อย่างยอดเยี่ยม จนเป็นที่ยอมรับว่ารัชสมัยของพระองค์เป็นยุคทองของวรรณคดีและศิลปกรรมขั้นสูงสุด พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยนั้นทรงอุดมไปด้วยพระคุณลักษณะ พระปรีชาญาณ และพระอัจฉริยภาพ ที่เต็มไปด้วยความวิจิตรบรรจง จึงได้ทรงสร้างสรรค์งานศิลปวัฒนธรรมของชาติไทยได้เจริญสูงสุด เป็นยุคทองของกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นมรดกอันล้ำค่าของชาติที่ชาวไทยจะต้องรักษาและธำรงไว้ให้แก่ลูกหลานสืบต่อไป

ก่อตั้งมูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์

เมื่อพ.ศ. ๒๕๑๑ ในวาระครบรอบ ๒๐๐ ปี แห่งพระบรมราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัฐบาลและประชาชนได้ร่วมกันจัดงานฉลองเฉลิมพระเกียรติ สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ พร้อมกันนี้องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ได้ประกาศถวายพระเกียรติคุณยกย่องให้พระองค์ทรงเป็น บุคคลสำคัญของโลก หลังจากงานฉลองพระบรมราชสมภพ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ซึ่งเป็นผู้สืบสายราชสกุลในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้จดทะเบียนก่อตั้งมูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ขึ้นเมื่อวันที่ ๑๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๑ เลขทะเบียนลำดับที่ ๕๒๒ (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๘๕ ตอนที่ ๑๑๕ ๓ ธันวาคม ๒๕๑๑) เพื่อเฉลิมพระเกียรติและสนองพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ ๙) ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับมูลนิธิไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ตั้งแต่เริ่มแรก ทรัพย์สินของมูลนิธิมีทุนเริ่มแรก คือ เงินสด ๑๐๐,๐๐๐ บาท (หนึ่งแสนบาทถ้วน)

การจัดตั้งมูลนิธิฯ ในวาระเริ่มแรก

การจัดตั้งมูลนิธิฯ ในวาระเริ่มแรก มีคณะกรรมการดำเนินงานประกอบด้วย
๑. หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล                                       ประธานกรรมการ
๒. นายธนิต อยู่โพธิ์  (อธิบดีกรมศิลปากรในขณะนั้น)  รองประธานกรรมการ
๓. หม่อมหลวงชูชาติ กำภู                                         กรรมการ
๔. นายพล วงศาโรจน์                                               กรรมการ
๕. นายสุพัฒน์ อนันตวงศ์                                          เหรัญญิกและเลขานุการ

เริ่มแรกจัดตั้งตามตราสาร (ข้อบังคับ) มูลนิธิฯ มีวัตถุประสงค์ ดังนี้
๑. เผยแพร่งานศิลปะและวรรณคดีของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยโดยทั่วไป
๒. จัดให้มีสถานที่แสดงดนตรี โขน ละคร บทพระราชนิพนธ์ เป็นพระบรมราชานุสรณ์ที่อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม
๓. ส่งเสริมการศึกษาศิลปะและวรรณคดี
๔. สนับสนุนงานศิลปะและวรรณคดีไทย

มีกรรมการ ๔ ประเภท ดังนี้
๑. กรรมการโดยตำแหน่ง ได้แก่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ อธิบดีกรมศิลปากร ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงคราม
๒. กรรมการที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ซึ่งขณะนั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง คือ หม่อมเจ้าหญิงวิภาวดี รังสิต หม่อมหลวงเดช สนิทวงศ์ และนายกัลย์ อิศรเสนา ณ อยุธยา
๓. กรรมการผู้แทนราชสกุลในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ซึ่งมีรวม ๒๐ ราชสกุล แต่พบผู้สืบราชสกุลในขณะนั้น ๑๘ ราชสกุล คือ กุสุมา กุญชร กปิตถา กล้วยไม้ ชุมแสง นิยมิศร เดชาติวงศ์ ทินกร นิลรัตน์ วัชรีวงศ์ สนิทวงศ์ อาภรณ์กุล อรุณวงศ์ ปราโมช พนมวัน ไพฑูรย์ มาลากุล เรณุนันท์
๔. กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งเลือกตั้งจากผู้มีศรัทธาเสียสละร่วมงาน

งานของมูลนิธิฯ ในระยะแรก

ในระหว่าง พ.ศ. ๒๕๑๑ จนถึง พ.ศ. ๒๕๒๐ มูลนิธิฯ ได้ดำเนินงานสำคัญๆ คือ
๑. งานบำเพ็ญกุศล มูลนิธิฯ จัดงานบำเพ็ญกุศลเพื่อถวายพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ในวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ของทุกปี ซึ่งเป็นวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพ และในวันดังกล่าว มูลนิธิฯ จัดให้มีการวางพุ่มดอกไม้ถวายราชสักการะ ณ พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ในบริเวณวัดอัมพวันเจติยาราม อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม โดยเชิญชวนหน่วยราชการ ผู้สืบราชสกุล พ่อค้า ประชาชน มาร่วมงาน
๒. งานเฉลิมพระเกียรติ กิจการอื่นที่คณะกรรมการดำเนินงานชุดจัดตั้งมูลนิธิฯ ได้จัดขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติตามวัตถุประสงค์ ได้แก่ งานจัดพิมพ์หนังสือจำหน่ายเผยแพร่ เช่น พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โคลงดั้นเฉลิมพระเกียรติ โดยพระยาตรังคภูมิบาล สิ่งอนุสรณ์ในรัชกาลที่ ๒ ในพระบรมมหาราชวัง จดหมายเหตุรัชกาลที่ ๒ เป็นต้น นอกจากนั้น ยังจัดการอภิปรายบรรยาย เนื่องในวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ของทุกปี  เช่น เรื่องการปกครองในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระราชนิพนธ์บทละครเรื่องอิเหนา จัดสัมมนาเรื่อง “ดนตรีไทย” และร่วมกับกรมศิลปากรจัดการแสดงตามบทพระราชนิพนธ์ เช่น เรื่องอิเหนา จัดบรรเลงดนตรีไทยโดยนักดนตรี ๒๐๐ คน
๓. งานก่อสร้าง “อุทยานพระบรมราชานุสรณ์” มูลนิธิฯ ได้กำหนดไว้เป็นโครงการสำคัญตั้งแต่เริ่มจัดตั้งมูลนิธิฯ

องค์ประธานมูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์

ครั้นถึง พ.ศ. ๒๕๒๐ เมื่อสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงสำเร็จการศึกษาปริญญาตรีอักษรศาสตร์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ให้ดำรงตำแหน่งกรรมการที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง และในการประชุมสามัญของมูลนิธิฯ เมื่อวันศุกร์ที่ ๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๐ ณ ห้องประชุมหอสมุดแห่งชาติ ที่ประชุมได้มีมติเป็นเอกฉันท์เลือกตั้งอัญเชิญ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นประธานคณะกรรมการของมูลนิธิฯ และทรงพระกรุณารับเป็นองค์ประธานนับตั้งแต่นั้นจนถึงปัจจุบัน ได้พระราชทานพระราชดำรัสในการประชุมนั้นความว่า

ขอขอบคุณกรรมการทุกท่านที่ได้รับข้าพเจ้ามาเป็นกรรมการด้วยอีกผู้หนึ่งอย่างเต็มใจ ซึ่งการที่จะได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ
ให้มาเป็นกรรมการครั้งนี้ ตั้งใจอยู่ว่าจะใช้ความรู้ที่เคยได้ศึกษามาในการส่งเสริมพระราชกรณียกิจ
ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โดยที่มีความคิดอยู่ว่า พระองค์ท่านเป็นผู้มีความรู้และความสามารถในวิทยาการหลายแขนง ตั้งแต่การที่ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ก็ย่อมทรงทราบวิชาวิทยาการต่างๆ ซึ่งเป็นของพระมหากษัตริย์
มีการปกครอง และการทหาร เป็นต้น และยังได้ทรงมีความรู้ทั้งในด้านศิลปะ ทั้งในด้านการประพันธ์ การดนตรี
และในด้านประติมากรรม ทุกอย่างที่กล่าวมาก็ทำได้ถึงขั้นเป็นที่ยกย่องทั้งภายในและภายนอกประเทศ
จึงเป็นบุคคลที่เราจะเรียกได้ว่าเป็นบุคคลที่หาได้ยากผู้หนึ่ง 
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สำหรับพระมหากษัตริย์พระองค์นี้ความสำคัญอยู่ที่
ความสามารถในด้านศิลปะนานาประการ เพราะฉะนั้น นอกจากจะถือว่าทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ปกครองบ้านเมืองมา นำบ้านเมือง
มาอย่างสงบสุขแล้ว อย่างในด้านวิทยาการนี้ ยังถือว่าเป็นบรมครูอีกด้วย คือ ท่านผู้มีความรู้ในด้านศิลปะ ผู้ค้นคิดวิทยาการเก่าๆ
ของไทยเรา และรู้สึกสำนึกในบุญคุณของท่านที่สร้างศิลปะมาให้เรารุ่นหลังได้ใช้ นอกจากเป็นการใช้ประกอบอาชีพแล้ว
ยังใช้เป็นเครื่องเตือนใจอยู่เสมอว่า บ้านเมืองเรานี้ คนรุ่นเก่ามีความสามารถรักษาบ้านเมืองไว้ให้อยู่อย่างสงบสุข
พอที่จะมีศิลปกรรมต่างๆ อันเป็นที่เชิดหน้าชูตามาได้เป็นระยะเวลาอันยาวนานไม่ขาดสาย ดังนั้นจึงเป็นข้อเตือนใจ
ให้เราคนรุ่นหลังได้นึกอยู่ตลอดเวลาที่เราจะรักษาบ้านเมืองของเราไว้โดยที่ไม่ต้องคิดเรื่องรักชาติอย่างอื่น
นอกจากมองจากที่ท่านได้ทำไว้แล้ว แล้วเราก็หวงแหนและรักษาไว้ ฉะนั้น จึงเห็นว่าพระราชกรณียกิจของท่านสำคัญ

พอดีได้เรียนมาทางด้านเกี่ยวกับวรรณคดี ก็เคยเรียนบทพระราชนิพนธ์มาบ้าง จึงคิดว่าคงจะร่วมทำอะไรได้
แม้แต่อาจจะไม่ได้เต็มที่นักก็จึงขอให้ท่านกรรมการทั้งหลายได้ร่วมกันในการปฏิบัติงานต่างๆ ให้สำเร็จตามเป้าหมายเดียวกันนี้
และถ้ามีอะไรก็ขอให้เล่าให้ฟัง สิ่งที่ทำไปแล้วหรือสิ่งที่จะเล่าให้ฟังตอนไหนก็ได้ เพื่อที่จะได้ข้อปลีกย่อย
หรือมีข้อขัดข้องอะไรก็จะได้ช่วยกันคิดช่วยกันทำ หรือว่าจะมีงานอะไรใหม่ๆ ที่จะส่งเสริมพระราชกรณียกิจ
เราก็จะได้ช่วยกันแก้ปัญหาได้ และขอขอบคุณทุกท่านด้วย

เมื่อวันที่ ๒๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๐ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินงาน ดังมีรายนาม ดังนี้
๑. หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล                           เป็นรองประธานคนที่ ๑
๒. หม่อมหลวงแฉล้ม กุญชร                          เป็นรองประธานคนที่ ๒
๓. ท่านผู้หญิงดุษฎี มาลากุล ณ อยุธยา         เป็นกรรมการ
๔. ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค                      เป็นกรรมการ
๕. พลอากาศเอกกำธน สินธวานนท์              เป็นกรรมการ
๖. ร้อยเอกกฤษฎา อรุณวงษ์ ณ อยุธยา         เป็นกรรมการ
๗. อธิบดีกรมศิลปากร                                   เป็นกรรมการ
(นายเดโช สวนานนท์)
๘. นายทองต่อ กล้วยไม้ ณ อยุธยา               เป็นกรรมการ
๙. นายสัมฤทธิ์ ลำเจียก                                เป็นกรรมการและเหรัญญิก
๑๐. คุณหญิงกุลทรัพย์ เกษแม่นกิจ               เป็นกรรมการและเลขานุการ

โดยอยู่ในวาระตามตราสารของมูลนิธิฯ (ข้อบังคับ) ๕ ปี ระหว่าง พ.ศ. ๒๕๒๐ – พ.ศ. ๒๕๒๕ และได้มีการเปลี่ยนแปลงกรรมการดำเนินงาน เนื่องจากกรรมการถึงแก่อนิจกรรม

ต่อมาเนื่องจากกระทรวงมหาดไทยได้ออกกฎกระทรวง “ว่าด้วยการจดทะเบียนมูลนิธิ การดำเนินกิจการ และทะเบียนมูลนิธิ พ.ศ. ๒๕๔๕ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๙ ตอนที่ ๙๗ก/หน้า ๑๘/๓๐ พ.ศ. ๒๕๔๕” และกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ยังได้ตีพิมพ์ “คู่มือการดำเนินงานมูลนิธิและสมาคม พ.ศ. ๒๕๕๖” นอกจากนี้ มูลนิธิฯได้รับการทักท้วงจากนิติกรผู้ดูแลการบังคับใช้กฎกระทรวงดังกล่าวว่า ข้อบังคับของมูลนิธิฯ มีเนื้อหาที่ขัดกับกฎกระทรวง สมควรแก้ไขข้อบังคับของมูลนิธิฯ ทั้งฉบับ ในการประชุมสามัญประจำปี ๒๕๖๐ ของมูลนิธิฯ เมื่อวันที่ ๒๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๑ คณะกรรมการมูลนิธิฯ ได้กราบบังคมทูลสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ขอพระราชทานพระราชวินิจฉัย ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ทรงเห็นชอบ ที่ประชุมมีมติอนุมัติให้แก้ไขข้อบังคับมูลนิธิฯ ทั้งฉบับ