โครงการสืบทอดศิลปวัฒนธรรมด้านทัศนศิลป์
โครงการสืบทอดศิลปวัฒนธรรมด้านทัศนศิลป์ เป็นโครงการในพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีวัตถุประสงค์เพื่อสืบทอดศิลปวัฒนธรรมเจริญรอยพระยุคลบาทพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยอีกด้านหนึ่ง
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานพระราชดำริในการประชุมสามัญ เมื่อพ.ศ. ๒๕๓๙ ว่า “จากการที่มูลนิธิฯได้จัดโครงการสืบทอดศิลปวัฒนธรรมด้านนาฏศิลป์ ดุริยางคศิลป์ และคีตศิลป์ จนมียุวศิลปินเกิดขึ้น และสามารถจัดแสดงได้เป็นอย่างดีแล้วนั้น ควรสืบทอดวัฒนธรรมทางด้านทัศนศิลป์บ้าง ด้วยเหตุว่าในระยะนี้จะมีการบูรณะวัดอัมพวันเจติยารามซึ่งเป็นงานด้านศิลปะต่างๆ ได้แก่ งานสถาปัตยกรรมไทย งานจิตรกรรมไทย และงานปฏิมากรรม เป็นงานที่น่าศึกษาน่าสืบทอด ทรงมีพระประสบการณ์ด้วยพระองค์เอง ตั้งแต่สมัยทรงเป็นนักเรียนระดับมัธยม ได้ศึกษาการเขียนลายไทยในชั้นเรียน ทรงได้พื้นฐานวิชามาบ้าง เมื่อหยุดเทอมก็ได้ทรงศึกษากับอาจารย์ภาวาส และอาจารย์จุลทรรศน์ แม้ทรงขาดการฝึกฝนมือ แต่ทรงได้รับความรู้ในเรื่องของนิสัยการดู ความรัก และความพอใจในศิลปะมาก โดยเฉพาะการสอนที่มีขั้นตอน เช่น การเขียนภาพฝาผนัง สอนตั้งแต่การเตรียมพื้น การเขียนลวดลายพื้นฐาน และขั้นตอนการเรียนช่างไทยต้องเขียนอะไรบ้าง วิธีฝึกฝนทำอย่างไร ความรู้เหล่านี้มีประโยชน์แก่การทำงาน งานศิลปะนี้ถ้าได้ปฏิบัติเองจริงๆ ก็จะเป็นพื้นฐานของการทำงานอีกหลายๆ อย่าง”
มูลนิธิฯ รับสนองพระราชดำริดำเนินการจัดโครงการสืบทอดศิลปวัฒนธรรมด้านทัศนศิลป์ โดยมอบวิทยาลัยช่างศิลปะ สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ กระทรวงวัฒนธรรม ดำเนินการจัดสอนหลักสูตรพิเศษ งานช่างสิปปหมู่ สาขาช่างศิลป์ไทย ให้แก่เยาวชนในจังหวัดสมุทรสงคราม ตั้งแต่พ.ศ. ๒๕๔๐ เป็นต้นมา จัดสอนทุกวันอาทิตย์ วันละ ๓ ชั่วโมง หลักสูตรแบ่งออกเป็น ๕ ระดับ ตั้งเเต่การเขียนลายไทยเบื้องต้น การเขียนหน้าภาพ จนถึงการเขียนภาพจิตรกรรมไทยแบบประเพณี
