เรือนฤทัยสรรค์

เรือนฤทัยสรรค์

ประวัติเรือนฤทัยสรรค์

เป็นอาคารเรือนไทยในอุทยานพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ออกแบบโดยรองศาสตราจารย์ฤทัย ใจจงรัก ศิลปินแห่งชาติ เป็นเรือนไทยภาคกลางหมู่ ๕ หลัง เนื้อที่ประมาณ ๗๒๑ ตารางเมตร กำหนดก่อสร้างตามแบบประเพณีไทย เพื่อให้เป็นแบบอย่างสำหรับอนุชนได้ศึกษาลักษณะศิลปสถาปัตยกรรมเรือนไทยสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น การก่อสร้างเรือนไทยกลุ่มนี้ ขนาดของเรือนใหญ่กว่าบ้านที่อยู่อาศัย เพราะมีวัตถุประสงค์จะใช้เป็นพิพิธภัณฑ์และหอสมุด เพื่อให้สามารถต้อนรับผู้เข้าใช้บริการจำนวนมาก ดังนั้น นอกจากขนาดจะใหญ่กว่าบ้านทั่วไปแล้ว ยังต้องดัดแปลงประยุกต์วิธีการทางวิศวกรรมสมัยใหม่เข้ามาช่วยบ้างเท่าที่จำเป็น เป็นต้นว่า ปูพื้นกระเบื้องใต้ถุนแทนที่จะเป็นดินตามลักษณะบ้านทรงไทยใต้ถุนสูงทั่วไป ส่วนเรือนไทยหลังที่สร้างเป็นหอสมุดนั้น ได้นำเอารูปแบบการก่อสร้างหอไตรสมัยโบราณมาใช้ คือ สร้างอาคารโดยหล่อคอนกรีตไว้ที่โคนเสาที่อยู่ในน้ำ เพื่อให้แข็งแรงพอรับน้ำหนักหนังสือและคนจำนวนมากได้ ส่วนที่ดัดแปลงต่างไปจากหอไตร คือ ทำทางเดินยาวเชื่อมระหว่างหอสมุดกับพิพิธภัณฑ์ ทั้งนี้ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการก่อสร้างเรือนไทยหลังนี้ที่จะให้เป็นประโยชน์ของประชาชนโดยเฉพาะ

เรือนหลังนี้ จัดแสดงพิพิธภัณฑ์วิถีไทยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ๔ หลัง ส่วนอีก ๑ หลัง จัดเป็นหอสมุดพระพุทธเลิศหล้านภาลัย นอกจากนี้ ที่ชานเรือนตรงกลางได้ก่อสร้างเป็นช่องสำหรับปลูกไม้ยืนต้น ซึ่งมูลนิธิฯ ได้รับความร่วมมือจากนายวุฒินันท์ พงศ์อารยะ ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงครามในขณะนั้น ขอรับบริจาคต้นพิกุลขนาดใหญ่ชะลอมาปลูกไว้ ช่วยทำให้บริเวณชานกลางเรือนมีความงดงามมาก

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี องค์ประธานมูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ทรงพระกรุณาเสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์อาคารเรือนไทย เมื่อวันที่ ๑๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๕ การก่อสร้างเริ่มจริงเมื่อวันที่ ๒๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๕ แล้วเสร็จเมื่อวันที่ ๓๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๒๗ พร้อมทั้งติดตั้งระบบไฟฟ้าและทาสี ต่อมา สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาเสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นประธานงานพิธีเปิดอาคารพิพิธภัณฑ์และหอสมุดพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เมื่อวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๒๘ และเปิดให้ประชาชนเข้าใช้บริการและศึกษาหาความรู้ได้ตั้งแต่วันที่ ๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๘ เป็นต้นมา

ต่อมา เมื่อวันที่ ๑๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๕ ได้เกิดเพลิงไหม้หอสมุดพระพุทธเลิศหล้านภาลัย สาเหตุเกิดจากไฟฟ้าลัดวงจร ทำให้อาคารเสียหายทั้งหมด มูลนิธิฯ ได้นำความกราบบังคมทูลสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชกระแสให้ก่อสร้างอาคารใหม่ทดแทน และทรงให้เปลี่ยนจากหอสมุดเป็นที่ซ้อมโขนและเก็บเครื่องดนตรีไทย ต่อมา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชานุญาตให้คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย จัดสร้างเป็นพิพิธภัณฑ์มรดกทางวัฒนธรรมอัมพวา เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจแก่นักท่องเที่ยว นักเรียน นักศึกษา และผู้สนใจทั่วไปในด้านวัฒนธรรมประเพณี สถาปัตยกรรม ศิลปกรรม และวิถีชีวิตของชุมชนอัมพวา ต่อมา เมื่อวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๙ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาเสด็จพระราชดำเนินประกอบพิธีเปิดพิพิธภัณฑ์มรดกทางวัฒนธรรมอัมพวา และเมื่อวันที่ ๒๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๑ ทรงพระกรุณาพระราชทานชื่อเรือนไทยหลังนี้ ว่า “เรือนฤทัยสรรค์” เพื่อเป็นเกียรติแก่สถาปนิกผู้ออกแบบ

พิพิธภัณฑ์ ณ เรือนฤทัยสรรค์

ปัจจุบัน เรือนฤทัยสรรค์ จัดเป็นพิพิธภัณฑ์วิถีไทยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ๔ หลัง และอีก ๑ หลัง จัดเป็นพิพิธภัณฑ์มรดกทางวัฒนธรรมอัมพวา มีรายละเอียด ดังนี้

พิพิธภัณฑ์วิถีไทยต้นกรุงรัตนโกสินทร์

พิพิธภัณฑ์วิถีไทยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ จัดแสดงวิถีชีวิตและวัฒนธรรมความเป็นอยู่ของผู้คนในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ โดยใช้โบราณวัตถุและศิลปวัตถุ มาประกอบกับสื่อการจัดแสดง เสียง ภาพนิ่ง และภาพเคลื่อนไหว ให้เรียนรู้และจินตนาการตามข้อมูลทางวิชาการ

ภายในพิพิธภัณฑ์ประกอบด้วย

หอชาย จัดแสดงให้เห็นถึงความเป็นอยู่ของชายไทยในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ มีเครื่องใช้สำหรับผู้ชาย อาวุธ ดาบ โล่ จำลองการเล่นสกา การเขียนอ่านของเด็กชายไทย การเรียนหนังสือ  

หอหญิง จัดแสดงให้เห็นถึงลักษณะความเป็นอยู่ของหญิงไทยโบราณ มีเครื่องแต่งตัว อุปกรณ์เครื่องใช้สำหรับเด็ก หินบดยา กระจาดสมุนไพร จำลองการเกล้าผมจุก การฝึกหัดทำบายศรี ร้อยพวงมาลัย

หอกลาง ๒ หลัง ภายในจัดแสดงศิลปโบราณวัตถุ อาทิ เครื่องเบญจรงค์ เครื่องลายคราม เครื่องถ้วย การจำลองตู้พระพุทธรูปบูชา โต๊ะเครื่องแป้งของหญิงไทย สภาพห้องนอน ซึ่งเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงลักษณะความเป็นอยู่และการดำรงชีวิตของชาวไทยในสมัยนั้น ส่วนบริเวณด้านนอกจัดแสดงสำรับอาหารคาวหวานในบทพระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย อาทิ มัสมั่นเนื้อ แกงเทโพ ก้อยกุ้ง พล่าเนื้อสด หลน ล่าเตียง แกงขม ลูกตาลเชื่อม ลูกชิดลอยแก้ว เป็นต้น

ชานเรือน จัดตามแบบเรือนไทยโบราณ ตกแต่งด้วยกระถางไม้ดัด ไม้ประดับ อ่างบัว ส่วนช่องตรงกลางเรือน ปลูกต้นพิกุลขนาดใหญ่ ทำให้มีความงดงามร่มรื่น

พิพิธภัณฑ์มรดกทางวัฒนธรรมอัมพวา

พิพิธภัณฑ์มรดกทางวัฒนธรรมอัมพวา จัดแสดงเรื่องราวด้านวัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิตที่มีความงดงามและเป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นของชุมชนอัมพวา ซึ่งอาศัยอยู่ริมน้ำตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน รวมทั้งประวัติของบุคคลสำคัญที่มีภูมิลำเนาในอำเภออัมพวา ประกอบด้วย ๗ เรื่อง คือ วิถีชีวิต วัด บ้าน ชุมชนริมน้ำ การดนตรี อาหารและขนม วัฒนธรรมและประเพณี จัดแสดงในรูปแบบสื่อนิทรรศการ นำเสนอข้อมูลผ่านสื่อมัลติมีเดีย เช่น วัตถุจัดแสดงทั้งของจริง และของจำลองหุ่นจำลอง แผนที่ ภาพกราฟิกพร้อมคำบรรยาย สื่อแบบมีปฏิสัมพันธ์ วีดิทัศน์ เสียงเพลง เป็นต้น นอกจากนี้ ได้ตกแต่งโดยรอบห้องด้วยการนำเสนออัตลักษณ์ของชุมชนอัมพวา เช่น บริเวณเสาเรือนทั้ง ๘ เสา เขียนประดับด้วยลวดลายเบญจรงค์ บริเวณเพดานห้องตกแต่งด้วยเรือ โมเดลฝูงปลาทู และภาพวิถีชีวิตชุมชนตลาดน้ำ เป็นต้น

บทความที่เกี่ยวข้อง