ดนตรีไทย
พระองค์ทรงโปรดดนตรีไทยมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งซอสามสายเป็นเครื่องดนตรีที่ พระองค์โปรดปรานมากถึงกับพระราชทาน “ตราภูมิคุ้มห้าม”
แก่เจ้าของสวนที่มีกะลามะพร้าวชนิดที่ใช้กระโหลกซอสามสายได้ เพื่อมิต้องเสียภาษีอากร ซอสามสายที่เป็นคู่พระหัตถ์นั้นทรงพระราชทานนามว่า “ซอสายฟ้าฟาด” เมื่อว่างจากพระราชกิจพระองค์มักจะทรงโปรดซอสามสายอยู่เสมอ ถ้าไม่รวมวงก็จะทรงเดี่ยวด้วยพระองค์เอง มีเรื่องเล่ากันว่า คืนหนึ่งหลังจากที่ได้ทรงซอสามสายอยู่จนดึกแล้วเสด็จเข้าที่บรรทม ก็ทรงสุบินว่า พระองค์เสด็จพระราชดำเนินไปในสถานที่แห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นสถานที่สวยงามมาก และได้ทอดพระเนตรเห็นดวงจันทร์ลอยเข้ามาใกล้พระองค์ สาดแสงสว่างไสวไปทั่วบริเวณ ทันใดนั้นก็พลันได้ทรงสดับเสียงดนตรีทิพย์อันไพเราะเสนาะกรรณเป็นอย่างยิ่ง จึงเสด็จประทับทอดพระเนตรทิวทัศน์อันงดงาม และทรงสดับเสียงดนตรีอันไพเราะอยู่ด้วยความเพลิดเพลินเจริญพระราชหฤทัย ครั้งแล้วดวงจันทร์ก็เริ่มถอยห่างออกไปในท้องฟ้า พร้อมกับเสียงดนตรีทิพย์ค่อยๆ ห่างจนเสียงหายไป ก็ทรงตื่นพระบรรทม
มื่อพระองค์ทรงตื่นจากพระบรรทมแล้ว เสียงดนตรีในทรงสุบินก็ยังกังวานอยู่ในพระโสตจึงโปรดให้ตามพนักงานดนตรีเข้า มาต่อเพลงไว้ แล้วพระราชทานนามว่า “เพลงบุหลันลอยเลื่อน” หรือ “บุหลันเลื่อนลอยฟ้า” หรือบางทีเรียกว่า “เพลงสรรเสริญพระจันทร์” มีนักดนตรีจำสืบมาจนบัดนี้ แต่เป็นรู้จักกันดีในชื่อว่า “เพลงทรงพระสุบิน” และเคยใช้เป็นเพลงสรรเสริญพระบารมีในสมัยหนึ่ง ต่อมามีผู้แต่งเพลงสรรเสริญพระบารมีเป็นทำนองอย่างอื่นหรือเป็นทำนองฝรั่ง ขึ้น จึงเรียกเพลงทรงพระสุบินที่ใช้เป็นเพลงสรรเสริญพระบารมีนั้นว่า “เพลงสรรเสริญพระบารมีไทย” ถึง ๒ ครั้ง
ครั้งแรก
เมื่อสมัยรัชกาลที่ ๕ มีพระราชประสงค์ให้มีเพลงคำนับ หรือเพลงสรรเสริญของไทยขึ้น
ครั้งที่สอง
สมัยรัชกาลที่ ๖ มีพระราชประสงค์ให้มีเพลงสรรเสริญเสือป่า ทำนองเพลงพระสุบินนี้เคยใช้เป็นทำนองในบทละครเรื่องอิเหนาประกอบบทร้องว่า
กิดาหยันหม่อมกรานอยู่งานพัด พระบรมโสมนัสอยู่ในที่ บุหลันเลื่อนลอยฟ้าไม่ราคี รัศมีส่องสว่างดังกลางวัน พระนิ่งนึกตรีกไตรไปมา จะแต่งคูหาสะตาหมัน ป่านนี้พระองค์ทรงธรรม์ จะนับว่าเคร่าคอยทุกเวลา
ซอสามสาย เป็นเครื่องดนตรีโบราณชนิดหนึ่งของไทยเรา มีชื่อตามลักษณะรูปร่าง คือ มี ๓ สาย เหมือนกับเครื่องดนตรีของจีนที่เรียกว่า สานเสียน (Sanhsien) และเครื่องดนตรีของญี่ปุ่นที่เรียกว่า ซามิเส็น (Shamisen) แต่ทั้งสานเสียน ของจีนและซามิเส็นของญี่ปุ้น เป็นเครื่องดนตรีประเภทดีด สานเสียนของจีน กะโหลกเป็นรูปสี่เหลี่ยมลบมุมจนเกือบเป็นรูปไข่ ขึ้นหน้าด้วยหนังงูเหลือม และดีดด้วยนิ้วมือ ส่วนซามิเส็น ของญี่ปุ่น รูปกะโหลกเกือบจะเป็นสี่เหลี่ยม ด้านข้างโค้งเล็กน้อย ทั้งสี่ด้าน ขึ้นหน้าด้วยไม้ และดีดด้วยไม้ดีดรูปร่างคล้ายๆขวาน แต่เครื่องดนตรีทั้งสองชนิดนี้ ก็มีสามสายเช่นเดียวกับซอสามสาย
ซอสามสายมีส่วนประกอบที่สำคัญ คือ เครื่องอุ้มเสียงให้เกิดกังวานทำด้วยกะลามะพร้าวตัดขวางลูก ให้เหลือพูทั้งสามไว้ด้านหลัง เรียกว่า “กะโหลก” กะลาสำหรับทำกะโหลก ซอสามสายนี้ จะต้องมีรูปร่างงดงามมีพูทั้งสามนูนขึ้นมาคล้ายลักษณะหัวช้าง ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ ทรงพระราชทาน “ตราภูมิคุ้มห้าม” ให้กับเจ้าของสวนมะพร้าวพันธุ์นี้ ไม่ต้องเสียภาษีอากรทำให้บรรดาเจ้าของสวนมะพร้าว ทั้งหลายมีกำลังใจที่จะทำนุบำรุงมะพร้าวพันธุ์พิเศษนี้ เพื่อไว้ทำซอสามสายได้ต่อๆ มาไม่ให้สูญพันธุ์ กะโหลกตรงที่ตัดออกนั้น ต้องขึงหน้าด้วยหนังลูกวัว หรือ หนังแพะ แต่ที่นิยมและมีคุณภาพเสียงดี หนังแพะจะได้คุณภาพที่ดีกว่า ดังปรากฎตามจดหมายเหตุ พ.ศ. ๒๕๓๗ ในรัชกาลที่ ๒ เป็นหนังสือของเจ้าพระยาอัครมหาเสนาบดีที่สมุหพระกลาโหม ถึงพระยานครศรีธรรมราช ฉบับหนึ่งแจ้งว่า “ต้องพระราช ประสงค์หนังแพะที่ดีสำหรับจะทำซอ และกลองแขกเป็นอันมาก จัดหาหนังแพะที่กรุงเทพมหานครได้ดีไม่ จึงเกณท์มาให้เมืองนคร จัดซื้อหนังแพะ ที่ดีส่งเข้าไป จะเป็นราคาผืนละเท่าใด ให้บอกเข้าไปให้แจ้ง จะได้พระราชทานเงินราคาให้” คันซอสามสายที่เรียกว่า ทวนนั้น มีลักษณะกลม ตอนกลางค่อนข้างเล็ก ตอนบนและตอนล่างค่อยๆโตขึ้นทีละน้อย ปักเสียบกะโหลกตั้งขึ้นไป ทำด้วยไม้หรืองาช้าง ทวนกลางหุ้มด้วยโลหะทำลวดลายสวยงาม เช่น ถมหรือลงยา ทวนล่างต่อจากกะโหลกลงไป ใหญ่และค่อยๆเรียวเล็กลงไป กลึงเป็นปล้องๆอย่างงดงาม ต่อปลายด้วยโลหะแหลม สำหรับปักพื้นมิให้เลื่อนในเวลาสี ทวนบนเจาะรูสำหรับสอดลูกบิดเป็น ๓ อัน ตรงท่อนล่างเจาะรูร้อยเส้นใหม ๓ เส้นสั้นๆ สำหรับต่อสายซอ เรียกว่า “หนวดพราหมณ์” สายซอจะต่อกับหนวดพราหมณ์ จึงผ่านหน้าซอ แล้วร้อยเข้าไปในรูทวนตอนบน สอดเข้าผูกพันกับลูกบิดสายละอัน สายที่มีเสียงสูงเรียกว่า “สายเอก” สายรองลงมาเรียกว่า “สายกลาง” และสายที่มีเสียงต่ำเรียกว่า “สายทุ้ม” การเทียบเสียงให้เทียบเสียงห่างกันเป็นคู่สี่ทั้งสามสาย (ซอล เร ลา) ตรงกลางคัน ทวนมีเส้นใหมหรือเอ็น พันสายทั้งสามรัดติดกับทวนหลายๆ รอบเรียกว่า “รัดอก” ตอนกลางหน้าซอค่อนขึ้นมาข้างบนมีไม้ทำเป็นรูปสะพานหนุนสายไม่ให้ติดกับหน้าซอเรียกว่า “หย่อง” ด้านซ้ายของหน้าซอติด “ถ่วงหน้า” ซึ่งทำด้วยโลหะ มีน้ำหนักสมดุลกับหน้าซอ เพื่อเป็นเครื่องสำหรับลดความสั่นสะเทือนของหน้าซอทำให้เพิ่มความไพเราะมาก ยิ่งขึ้น ถ่วงหน้านี้อาจประดับลวดลายฝังเพชรพลอยให้งดงามก็ได้ คันชักซอสามสายทำเป็นรูปโค้ง ขึงด้วยหางม้าประมาณ ๓๐๐ เส้น ตอนปลายของคันชักทำให้โค้งอ่อนปลับออกไป เพื่อให้จับได้สะดวก ไม้ที่ทำคันชักซอ ที่นิยมกันมากคือ ไม้แก้วที่มีลวดลายงดงาม คันชักซอสามสายนี้ มิได้สอดเข้าไปในระหว่างสาย เหมือนซอด้วง ซออู้ เวลาจะสีจับเอาคันชักมีสีทาบบนสายซอ ประสงค์จะสีสายใหนก็ทาบบนสายนั้น ก่อนจะสีต้องเอา ยางสนถูให้หางม้า มีความฝืดเสียก่อน เพราะซอสามสายมิได้ติดยางสนไว้เหมือนซอด้วงหรือซออู้ ซอสามสายนี้ มีผู้สร้างขึ้นมาอีกขนาดหนึ่งเป็นซอขนาดเล็กกว่าทั้งตัวซอและคันทวน มีความยาวประมาณ ๑ เมตรเท่านี้น เข้าใจว่า จะสร้างขึ้นเพื่อให้เหมาะกับนักดนตรีหญิง เรียกซอคันนี้ว่า “ซอหลิบ” มีเสียงสูงกว่า ซอธรรมดา ปรากฎว่าพระองค์มีฝีพระหัตถ์ ในทางสีซอสามสายเป็นเลิศพระองค์หนึ่ง ซอสามสายคู่พระหัตถ์มีชื่อว่า “สายฟ้าฟาด”
ข้อมูลจาก เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย มูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดพิมพ์ พ.ศ. ๒๕๒๓