โครงการสืบทอดศิลปวัฒนธรรมด้านนาฏศิลป์ ดุริยางคศิลป์ และคีตศิลป์
โครงการสืบทอดศิลปวัฒนธรรมด้านนาฏศิลป์ ดุริยางคศิลป์ และคีตศิลป์
ประวัติโครงการสืบทอดศิลปวัฒนธรรมด้านนาฏศิลป์ ดุริยางคศิลป์ และคีตศิลป์
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาอุปถัมภ์งานด้านศิลปวัฒนธรรมโดยเฉพาะงานนาฏศิลป์ ดนตรี ทรงเจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาท พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โดยทรงพระวิริยะอุตสาหะฝึกฝนจนทรงพระปรีชาเชี่ยวชาญในเรื่องดนตรีไทย และทรงรอบรู้ปราดเปรื่องในนาฏยศาสตร์ ดังมีคำกล่าวว่า “ดนตรีนาฏศิลป์ไทย ไม่สิ้นแล้ว เพราะพระทูลกระหม่อมแก้วทรงอุปถัมภ์”
ในส่วนของมูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ทรงพระกรุณาพระราชทานพระราชดำริให้ดำเนินการจัดเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมอันเกี่ยวเนื่องในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย มูลนิธิฯ รับสนองพระราชดำริ โดยจัดตั้งโครงการสืบทอดศิลปวัฒนธรรมด้านนาฏศิลป์ ดุริยางคศิลป์ และคีตศิลป์ เพื่อจะอนุรักษ์ ส่งเสริม และสืบทอดแบบแผนมาตรฐานที่ถูกต้องของการแสดงโขน ละคร การบรรเลงดนตรีไทยและขับร้อง ที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้ทรงสถาปนาและทำนุบำรุงให้เจริญรุ่งเรืองมาตลอดรัชสมัยของพระองค์ เพื่อให้คงอยู่และสืบทอดเป็นมรดกของชาติสืบต่อไป มูลนิธิฯ ได้เริ่มโครงการโดยเปิดสอนหลักสูตรพิเศษด้านนาฏศิลป์ ดุริยางคศิลป์ และคีตศิลป์ ให้แก่เยาวชน ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๓๓ จนถึงปัจจุบัน ณ อุทยานพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ซึ่งเป็นนิวาสสถานพระบรมราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รับสมัครนักเรียนที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖ ถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๔ จากสถานศึกษาของจังหวัดสมุทรสงครามเข้าร่วมโครงการ จัดสอนทุกวันเสาร์ ตั้งแต่เวลา ๐๙.๐๐ น. ถึง ๑๒.๐๐ น. ในเดือนกรกฎาคมถึงเดือนมกราคมของปีถัดไป รวมเป็นระยะเวลา ๗ เดือน โดยเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย
สาขาที่เปิดสอน
มีรายละเอียดสาขาที่เปิดสอน ดังนี้
๑. สาขานาฏศิลป์ไทย แบ่งออกเป็น
๑.๑ สาขานาฏศิลป์ละคร
ภาพยุวศิลปินสาขานาฏศิลป์ละคร
เนื่องจากพื้นความรู้ของนักเรียนสาขานาฏศิลป์ไม่เท่ากัน จึงแยกการเรียนการสอนเป็น ๓ กลุ่ม คือ กลุ่มที่ ๑ นักเรียนใหม่ฝึกหัดเพลงช้า เพลงเร็ว รำแม่บท กลุ่มที่ ๒ ทบทวนเพลงช้า เพลงเร็ว รำแม่บท เชิด เสมอ และระบำต่างๆ เช่น รำสีนวล ระบำดาวดึงส์ ฟ้อนมาลัย ชุมนุมเผ่าไทย ฯลฯ กลุ่มที่ ๓ เป็นนักเรียนเก่าที่มีความรู้พื้นฐาน สามารถเรียนเพิ่มเติมให้สูงขึ้นเพื่อออกแสดงและศึกษาให้สูงขึ้นในสถาบันเฉพาะทาง เช่น วิทยาลัยนาฏศิลป สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ มหาวิทยาลัยราชภัฏต่างๆ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฯลฯ เรียนระบำเบ็ดเตล็ด (ยืนเครื่อง) รำเดี่ยว รำคู่ รำเป็นชุดเป็นตอนต่างๆ ในละครบทพระราชนิพนธ์ เพลงหน้าพาทย์ เช่น บาทสกุณี ตระบองกัน ตระนิมิต ฯลฯ
๑.๒ สาขานาฏศิลป์โขน
ภาพยุวศิลปินสาขานาฏศิลป์โขน
สาขานาฏศิลป์โขน ฝึกแม่ท่ายักษ์ ลิง เพลงหน้าพาทย์ รำเป็นชุดเป็นตอน เช่น หนุมานจับนางสุพรรณมัจฉา รามสูร-เมขลา ขับพิเภก พระรามรบทศกัณฐ์ นารายณ์ปราบนนทุก พระคเณศร์ประทานพร ศึกบรรลัยกัลป์ ลักสีดา ฯลฯ
๒. สาขาดุริยางคศิลป์ไทย (ปี่พาทย์และเครื่องสาย) ฝึกบรรเลงเพลงไทยต่างๆ เช่น เพลงพระราชนิพนธ์บุหลันลอยเลื่อน โหมโรง คลื่นกระทบฝั่ง นกเขาขะแมร์ วายุบุตรยาตราเถา ฯลฯ
๓. สาขาคีตศิลป์ไทย ฝึกขับร้องเพลงไทยต่างๆ เช่น สุดสงวนเถา ไกรลาศสำเริง เป็นต้น
ภาพยุวศิลปินสาขาดุริยางคศิลป์ไทย และสาขาคีตศิลป์ไทย