เหตุการณ์บ้านเมืองในขณะเมื่อเปลี่ยนรัชกาล
ขณะเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้เสด็จผ่านพิภพนั้น เป็นเวลากำลังความลำบากจะเกิดขึ้นแก่กรุงสยามด้วยเหตุหลายประการ ซึ่งเข้าใจว่าคงจะทราบกันอยู่ในเวลานั้น คือ
ประการที่ ๑ พม่ากำลังตระเตรียมกองทัพที่ยกเข้ามาตีอีกครั้ง ๑ ด้วยเห็นว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงพระชรา และทราบว่าทรงพระประชวรอยู่แล้ว
ประการที่ ๒ ฝ่ายข้างเมืองญวน องเชียงสือตั้งตัวเป็นพระเจ้าเวียดนามกำลังคิดจะขยายอำนาจญวนเข้ามาทางเมืองเขมร แต่รั้งรออยู่ด้วยเกรงพระบารมีในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ซึ่งได้ทรงทะนุบำรุงแลมีพระเดชพระคุณแก่ตนมาเป็นอันมาก จึงยังไม่ก่อการณ์ร้ายแก่เมืองไทย แต่เหตุร้ายซึ่งสำคัญยิ่งกว่าอย่างอื่นนั้นเป็น
ประการที่ ๓ คือ ที่การในกรุงเทพฯ ในปลายรัชกาลที่ ๑ เปลี่ยนแปลงจากแต่ก่อนมาหลายอย่าง เป็นต้นว่าพระราชวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ที่ได้เคยทำการศึกมาก่อน เช่น กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหานาท แลกรมพระราชวังบวรสถานภิมุข เป็นต้น ก็สวรรคต สิ้นพระชนม์ เสนาบดีที่เป็นผู้ใหญ่ เช่น เจ้าพระยารัตนาพิพิธ เจ้าพระยาอรรคมหาเสนา (บุนนาค) ก็อสัญกรรม เจ้านายทั้งวันหลวงวังหน้าพระชันษาเจริญในรัชกาลที่ ๑ มีมากขึ้นด้วยกัน ตลอดจนข้าราชการที่มีบรรดาศักดิ์เป็นรุ่นใหม่ก็มากชวนจะเกิดความไม่ปรองดอง แลเป็นพวกเป็นเหล่ากัน ข้อนี้จะพึงแลเห็นได้ในเรื่องพระองค์ลำดวน พระองค์อินทปัต ซึ่งเป็นลูกเธอของกรมพระราชวังบวรฯ การที่จะแตกกันขึ้นภายใน คงรู้ออกไปถึงเมืองญวน องเชียงสือซึ่งเป็นพระเจ้าเวียดนาม ยาลอง จึงมีพระราชสาสน์เข้ามาทูลตักเตือนพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ขอให้ทรงสถาปนาพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ขึ้นเป็นกรมพระราชวังบวรฯให้ปรากฏแก่คนทั้งหลายว่าจะเป็นผู้รับรัชทายาท ดังปรากฏอยู่ในเรื่องพงศาวดารรัชกาลที่ ๑ นั้น ว่าโดยย่อ ในขณะเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้ผ่านพิภพ ความรู้สึกคงจะมีอยู่ในกรุงเทพฯ ว่า กำลังจะมีศึกพม่ายกมาอีก ฝ่ายญวนก็ไม่น่าไว้ใจ อาจจะเป็นข้าศึกขึ้นข้างฝ่ายใต้อีกทาง ๑ ข้างภายในก็ไม่ปรกติ เมื่อการเป็นเช่นนี้จึงเห็นจำเป็นที่จะต้องจัดการให้สิ้นเสี้ยนศัตรูภายในเสียก่อน จึงจะมีกำลังต่อสู้ข้าศึกซึ่งจะมาแต่ภายนอกได้ ด้วยเหตุนี้ พอเสด็จผ่านพิภพได้ ๓ วันก็เกิดความเรื่องเจ้าฟ้ากรมขุนกระษัตรานุชิต หรือที่ปรากฏพระนามเรียกกันโดยมากว่า เจ้าฟ้าเหม็น ซึ่งเป็นโอรสของพระเจ้ากรุงธนบุรี