พระราชพิธีบรมราชาภิเษก
ตามพระราชประเพณีที่ถือกันในประเทศนี้แต่โบราณมา เมื่อสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินได้เสด็จผ่านพิภพแล้ว ยังไม่ถือว่าเป็นพระราชามหากษัตริย์บริบูรณ์ จนกว่าจะได้ทำพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ในระหว่างเวลาก่อนทำพระราชพิธีบรมราชาภิเษกนั้นบัตรหมายในราชการยังขานพระยศอย่างเดิม แลยังไม่ใช้พระราชโองการ อีกประการ ๑ การพระราชพิธีเฉลิมพระราชมนเทียร คือ ที่สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่เสด็จขึ้นอยู่ในพระราชมนเทียรในพระราชวัง ย่อมทำเนื่องในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เวลาก่อนพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เสด็จประทับอยู่เพียงที่ประทับซึ่งจัดถวายชั่วคราวด้วยเหตุเหล่านี้ เมื่อสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินเสด็จผ่านพิภพแล้ว จึงหาพระฤกษ์ทำการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก แลเฉลิมพระราชมณเทียรก่อนการอื่น สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกรมพระราชวังบวรสถานมงคล เสด็จผ่านพิภพได้ ๗ วัน ก็ถึงกำหนดฤกษ์เริ่มงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ลักษณะการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกที่ทำในรัชกาลที่ ๒ นั้น ทำตามตำราพระราชพิธีบรมราชาภิเษกซึ่งตั้งเป็นแบบแผนไว้เมื่อในรัชกาลที่ ๑
เรื่องตำนานการตั้งตำราอันนี้ มีปรากฏในหนังสือพระราชพงศาวดารแลจดหมายเหตุแยกย้ายกันอยู่หลายแห่ง แลคำผู้หลักผู้ใหญ่เล่าสืบกันมา ที่ยังไม่ได้จดไว้ก็มีสมควรจะรวมเรื่องตำนานมากล่าวไว้ในที่นี้ก่อน คือ มีคำผู้ใหญ่กล่าวสืบกันมาว่าพระเจ้ากรุงธนบุรีไม่ได้ทำพิธีบรมราชาภิเษก ด้วยในสมัยเมื่อครั้งตั้งกรุงธนบุรีมีการทัพศึกไม่ว่าง แลนัยว่า เพราะเหตุนี้ หนังสือรับสั่งครั้งกรุงธนบุรีจึงไม่ได้ใช้พระราชโองการ ความที่กล่าวข้อนี้ เมื่อมาตรวจพบหนังสือครั้งกรุงธนในชั้นหลัง เช่นหนังสือเรื่องตั้งเจ้านครศรีธรรมราชเป็นต้น เห็นใช้พระราชโองการเต็มตามแบบอย่างครั้งกรุงเก่า เพราะฉะนั้น ในข้อที่ว่าพระเจ้ากรุงธนบุรีไม่ได้ทำพิธีบรมราชาภิเษกนั้นน่าเชื่อว่าที่จริงเห็นจะได้ทำ แต่ในเวลาที่ทำนั้นกำลังบ้านเมืองระส่ำระสาย ตำราราชาภิเษกครั้งกรุงเก่า ก็สูญเสียเมื่อกรุงเสียแก่พม่า ถ้าจะมีตำราอะไรที่เหลืออยู่ ซึ่งหาได้ในครั้งกรุงธนบุรีนั้น ก็มีอยู่ฉบับเดียวแต่โคลงจมื่นไวยวรนารถแต่งไว้ แต่ด้วยจดหมายเหตุเรื่องบรมราชาภิเษกสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ ลักษณะการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกที่ทำครั้งสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ ว่ามีสวดมนต์เลี้ยงพระ ๓ วัน ในวันที่คำรบ ๓ เวลา เช้าสรงมุรธาภิเษก ทรงเครื่องแล้วเสด็จประทับพระที่นั่งอัฐทิศแต่ทิศเดียว พระมหาราชครูพราหมณ์กราบบังคมทูลถวายสิริราชสมบัติแล้วสวดเวทถวายชัยมงคล เป็นเสร็จการเพียงเท่านั้น ไม่ได้ตั้งพระที่นั่งภัทรบิฐ และไม่ได้ถวายเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ พิธีที่เต็มตามตำรา มาทำครั้งสมเด็จพระเจ้าอุทุมพรราชา รับราชสมบัติต่อสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ แต่ก็ไม่ได้มีตำราจดไว้ หรือจดไว้แต่สูญหายไปเสียเมื่อเสียกรุงเก่า ลักษณะการพิธีบรมราชาภิเษกพระเจ้ากรุงธนบุรีเห็นจะทำอย่างสังเขป อนุโลมตามแบบอย่างครั้งสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ และบางทีจะบกพร่องไปกว่านั้น ความเข้าใจจึงเกิดมีขึ้นมาว่า ลักษณะการพระบรมราชาภิเษกที่ได้ทำครั้งพระเจ้ากรุงธนบุรีทำไม่ถูกต้องตามตำรา ครั้นมาเกิดเหตุวิปริตขึ้นในปลายแผ่นดิน จึงเลยโทษกันว่าเพราะไม่ได้ทำพระราชพิธีบรมราชาภิเษกให้ถูกต้องตามตำรา จึงเลยมีคำกล่าวสืบมาว่า พระเจ้ากรุงธนบุรีไม่ได้ราชาภิเษก