หลังแผ่นดิน สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๑
ปีมะเส็งเอกศก จุลศักราช ๑๑๗๑ พ.ศ. ๒๓๕๒ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เสด็จสวรรคตที่พระที่นั่งสิบเอ็ดห้อง ซึ่งทุกวันนี้เรียกว่า พระที่นั่งไพศาลทักษิณ เมื่อ ณ วันพฤหัสบดีที่ ๗ เดือนกันยายน พ.ศ.๒๓๕๒ ตรงกับวันทางจันทรคติ เดือน ๙ แรม ๑๓ ค่ำ ปีมะเส็งเอกศก จุลศักราช ๑๑๗๑ (คริสตศักราช ๑๘๐๙) สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล (คือพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย) ได้สำเร็จราชการแผ่นดินโดยสมเด็จพระบรมชนกนาถได้ทรงประดิษฐานไว้ในที่พระมหาอุปราช ผู้รับรัชทายาท
ครั้นรุ่งขึ้นวันศุกร์แรม ๑๔ ค่ำเวลาเช้า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กรมพระราชวังบวรสถานมงคลกับสมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้ากรมหลวงเสนานุรักษ์ ซึ่งได้ดำรงพระยศเป็นพระบัณฑูรน้อยมาแต่ในรัชกาลที่ ๑ พร้อมด้วยพระราชวงศานุวงศ์ เสด็จเข้าไปสรงสการทรงเครื่องพระบรมศพเสร็จแล้ว เชิญพระบรมศพลงสู่พระลองเงิน ตำรวจแห่ออกประตูสนามราชกิจ เชิญขึ้นพระยานุมาศประกอบพระโกศทอง ตั้งกระบวนแห่เชิญไปประดิษฐานไว้ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทด้านมุขตะวันตก ภายใต้พระมหาเสวตฉัตร ตั้งเครื่องสูงแลเครื่องราชูปโภคเฉลิมพระเกียรติยศตามโบราณราชประเพณีพระสงฆ์สวดพระอภิธรรมทั้งกลางวันกลางคืน แลมีนางร้องไห้ ประโคมกลองชนะตามเวลา เหมือนอย่างพระศพพระเจ้าแผ่นดิน ครั้งกรุงเก่าทุกประการ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กรมพระราชวังบวรสถานมงคล เสด็จเข้ามาประทับแรมอยู่ ณ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน เวลาเช้าเย็นเสด็จไปถวายบังคมพระบรมศพ ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลสนองพระเดชพระคุณทุกวันมา
ครั้นจัดการพระบรมศพแล้ว พระราชวงศานุวงศ์ เสนามาตย์ราชเสวก ประชุมพร้อมด้วยพระสงฆ์ราชาคณะมีสมเด็จพระสังฆราชเป็นประธาน ให้อาลักษณ์เขียนคำกราบบังคมทูลอัญเชิญสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กรมพระราชวังบวรสถานมงคล เสด็จขึ้นผ่านพิภพ อ่านคำกราบทูลนี้แล้ว พระสงฆ์เจริญชัยปริตรถวายพระพรชัยมงคล แต่นั้นพระบรมวงศานุวงศ์แลข้าราชการ จึงกระทำสัตย์ถวายต่อใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทต่อมาโดยลำดับทั้งในกรุงแลหัวเมืองปักษ์ใต้ฝ่ายเหนือทั่วกัน