ประวัติอุทยานพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

ประวัติอุทยานพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

คณะกรรมการมูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้จัดทำโครงการสำคัญ คือ โครงการก่อสร้างอุทยานพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ณ ตำบลอัมพวาซึ่งตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์กล่าวว่า เป็นนิวาสสถานพระบรมราชสมภพ ในอำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม หรือรู้จักกันในชื่อ “อุทยาน ร.๒” เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และเป็นศูนย์กลางศิลปวัฒนธรรมไทยในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รวมทั้งเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชน โดยพระราชสมุทรเมธี อดีตเจ้าอาวาสวัดอัมพวันเจติยารามได้มอบที่ดินประมาณ ๑๑ ไร่ ทางทิศตะวันตกของวัดเพื่อจัดสร้างอุทยานฯ

ภาพมุมสูงของอุทยานพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (อุทยาน ร.๒)

เมื่อพ.ศ. ๒๕๒๐ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นกรรมการ และทรงรับเลือกตั้งอัญเชิญเป็นองค์ประธานมูลนิธิฯ ตั้งแต่นั้นจนถึงปัจจุบัน ได้พระราชทานพระราชดำริเป็นแนวทางในการดำเนินงานของมูลนิธิฯ หลายประการ ทรงมีพระราชปณิธานและทรงรับเป็นพระราชภาระอันสำคัญที่จะดำเนินงานโครงการก่อสร้างอุทยานพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ให้ลุล่วงไปตามเป้าหมายของมูลนิธิฯ โดยเร็ว ทรงบริหารงานและทรงหาทุนดำเนินงานการก่อสร้างอุทยานฯ ตั้งแต่พ.ศ. ๒๕๒๑ เป็นต้นมา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมเสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิดป้ายอุทยานฯ เมื่อวันที่ ๓๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๒ และทรงวางศิลาฤกษ์อาคารทรงไทย เมื่อวันที่ ๑๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๕

ในระยะเริ่มแรกของการก่อสร้างอุทยานฯ กรรมการที่เป็นกำลังสำคัญในการดำเนินงาน ได้แก่ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล นายธนิต อยู่โพธิ์ หม่อมหลวงแฉล้ม กุญชร ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค พลอากาศเอกกำธน สินธวานนท์ นายเดโช สวนานนท์ ร้อยเอกกฤษฎา อรุณวงษ์ ณ อยุธยา นายทองต่อ กล้วยไม้ ณ อยุธยา และคุณหญิงกุลทรัพย์ เกษแม่นกิจ

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งพลอากาศเอกกำธน สินธวานนท์ (ขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย) เป็นผู้อำนวยการโครงการก่อสร้างอุทยานฯ และได้รับความร่วมมือจากสถาปนิกและวิศวกรของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยหลายคน เข้ามาช่วยเรื่องการก่อสร้าง เป็นต้นว่า นายสุรีย์ เหมะพรรณ์ นายยงยุทธ์ บุณยะประภัสสร์ นายอำนวยสุข เตชะกำพุช

การก่อสร้างอุทยานฯ ได้สำเร็จลุล่วงแล้ว มูลนิธิฯ ได้จัดงานพิธีเปิดอาคารเรือนไทย ซึ่งจัดเป็นพิพิธภัณฑ์และหอสมุดพระพุทธเลิศหล้านภาลัย สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงพระกรุณาเสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นประธาน เมื่อวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๒๘ และได้เปิดให้ประชาชนเข้าใช้บริการและศึกษาหาความรู้ได้ตั้งแต่วันที่ ๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๘ เป็นต้นมา