โรงละครกลางแจ้งกฤษฎารณฤทธิ์

โรงละครกลางแจ้งกฤษฎารณฤทธิ์

โรงละครกลางแจ้ง เป็นพื้นที่โล่ง ล้อมรอบด้วยพันธุ์ไม้ต่างๆ ก่อสร้างขึ้นเพื่อให้เป็นสถานที่จัดแสดงนาฏศิลป์โขน ละคร ดุริยางคศิลป์ และคีตศิลป์ตามบทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รวมทั้ง ยังใช้เป็นสถานที่ในการจัดการแสดงศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นในโอกาสต่างๆ โดยร้อยเอกกฤษฎา อรุณวงษ์ ณ อยุธยา กรรมการผู้แทนราชสกุลในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ราชสกุลอรุณวงษ์ ซึ่งเป็นสถาปนิกผู้มีชื่อเสียงเป็นผู้ออกแบบ จัดทำให้เป็นลักษณะเนินดินลดหลั่น มีเนินที่ประทับ เนินผู้ชมการแสดง ส่วนบริเวณพื้นที่แสดงเป็นลานปูหญ้าและเนิน มีต้นไม้และคูน้ำ เหมาะสมสำหรับใช้เป็นฉากธรรมชาติป่าเขาลำเนาไพร

ต่อมาเมื่อพ.ศ. ๒๕๖๐ คณะกรรมการบริหารมูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ พิจารณาดำเนินการปรับปรุงโรงละครกลางแจ้ง เนื่องจากพื้นที่ทรุดตัวลงไปมาก และเห็นควรปรับปรุงด้านภูมิสถาปัตย์ควบคู่ไปด้วยเพื่อความสวยงาม จึงได้มอบนายรณฤทธิ์ ธนโกเศศ อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เป็นผู้ออกแบบ โดยก่อสร้างเนินที่ประทับและเนินผู้ชมการแสดงเป็นที่นั่งคอนกรีตเสริมเหล็ก ก่อสร้างเขื่อนกันดินและบ่อน้ำ ถมดินและปรับดินบริเวณพื้นที่แสดง พร้อมปูหญ้าและปลูกต้นไม้เพิ่มเติม

เมื่อวันที่ ๒๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๑ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี องค์ประธานมูลนิธิฯ ทรงพระกรุณาพระราชทานชื่อโรงละครนี้ว่า “โรงละครกลางแจ้งกฤษฎารณฤทธิ์” เพื่อเป็นเกียรติแก่สถาปนิกผู้ออกแบบ

ศาลาดนตรี

เป็นศาลาเป็นรูปแบบอาคารทรงไทยตรีมุข ตั้งอยู่ ณ บริเวณโรงละครกลางแจ้งกฤษฎารณฤทธิ์ ใช้เป็นที่นั่งของวงปี่พาทย์บรรเลงเพลงประกอบ เมื่อมีการแสดงโขนและละครในงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย