เรือนอาวุธสร้าง

เรือนอาวุธสร้าง

ประวัติเรือนอาวุธสร้าง

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี องค์ประธานมูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ มีพระราชกระแสให้พลอากาศตรีอาวุธ เงินชูกลิ่น ศิลปินแห่งชาติ สาขาสถาปัตยกรรมไทย ออกแบบเรือนไทยภายในอุทยานพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เพิ่มเติมจากเดิมที่มีอยู่แล้วอีกหนึ่งอาคาร พลอากาศตรีอาวุธ เงินชูกลิ่น ได้ออกแบบหมู่เรือนไทยก่อสร้างเป็นไม้ตามแบบอย่างของเดิม ประมาณการค่าก่อสร้าง ๕๐ ล้านกว่าบาท และได้กราบบังคมทูลสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีรับสั่งว่า “ราคาแพงมาก จะทำอย่างไรถึงจะให้ราคาถูกลง แต่รูปแบบและทรวดทรงยังเหมือนของเดิมทุกประการ” พลอากาศตรีอาวุธ จึงเปลี่ยนวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างจากเดิมทำด้วยไม้ทั้งหมด หลังคามุงกระเบื้องดินเผา เป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก โครงหลังคาเป็นเหล็กประกอบแบบทรงไทย ส่วนที่เป็นประตูและหน้าต่างเท่านั้นที่เป็นไม้ แต่อย่างไรก็ตาม เรือนอาวุธสร้าง ยังมีรูปแบบเป็นอาคารทรงไทยที่สร้างตามหลักการสร้างเรือนไทย คือ วางจังหวะเรือนให้ลมพัดเข้ามาได้ ซึ่งเป็นภูมิปัญญาของคนไทย

เรือนอาวุธสร้าง เป็นลักษณะหมู่เรือนไทยใต้ถุนสูง ขนาดกว้าง ๒๘.๐๐ เมตร ยาว ๔๕.๒๕ เมตร มีทั้งหมด ๙ หลัง พื้นที่ใช้สอย ๘๓๗ ตารางเมตร เริ่มก่อสร้างเมื่อพ.ศ. ๒๕๕๗ โดยได้รับการสนับสนุนเงินงบประมาณจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา แล้วเสร็จเมื่อพ.ศ. ๒๕๕๙ ต่อมา เมื่อวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๙ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาเสด็จพระราชดำเนินประกอบพิธีเปิดอาคาร และทรงพระกรุณาพระราชทานชื่อเรือนเมื่อวันที่ ๒๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๑ ว่า “เรือนอาวุธสร้าง” เพื่อเป็นเกียรติแก่สถาปนิกผู้ออกแบบ

พิพิธภัณฑ์ ณ เรือนอาวุธสร้าง

ปัจจุบัน เรือนอาวุธสร้าง จัดเป็นพิพิธภัณฑ์ในรูปแบบของพิพิธภัณฑ์มีชีวิต เพื่อจูงใจให้ผู้เข้าชมมีความรู้สึกร่วมในการรับชม นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจ และพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ด้วยสื่อหลากหลายรูปแบบ ประกอบด้วยห้องจัดแสดง ดังนี้

ห้องประดิษฐานพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

ภาพพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

บริเวณกลางห้องนี้ ประดิษฐานพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย มีรูปปั้นครุฑยุดนาค ซึ่งเป็นตราพระราชลัญจกรประจำรัชกาลประดับไว้ทั้ง ๒ ข้างซ้ายขวา ภายในห้องมีการฉายสื่อวีดิทัศน์นำเสนอพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจ เพื่อให้ผู้เข้าชมได้รับความรู้และน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงบำเพ็ญสร้างสรรค์ไว้แก่ชาติบ้านเมืองเป็นอเนกประการ นอกจากนี้ ยังมีตู้จัดแสดงแบบจำลองพระราชวังเดิมของพระองค์ ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ตั้งของกรมอู่ทหารเรือ

ห้องจัดแสดงพระอัจฉริยภาพในด้านคีตศิลป์

ภาพตู้จัดแสดงซอสามสาย

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงสนพระราชหฤทัยในด้านดนตรีเป็นอย่างยิ่ง ทรงอุปถัมภ์การดนตรี จนนับได้ว่า ทรงเป็นอัครศิลปินโดยเฉพาะพระองค์ ภายในห้องนี้ จึงได้จัดแสดงเครื่องดนตรีไทยประเภทต่างๆ เพื่อให้ผู้เข้าชมได้รับความรู้ รวมถึงจัดแสดงซอสามสาย ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงโปรด และทรงมีฝีพระหัตถ์เป็นเลิศในทางสีซอสามสาย

ห้องจัดแสดงพระอัจฉริยภาพในด้านสถาปัตยกรรม ประติมากรรม และประณีตศิลป์

ภาพแบบจำลองพระปรางค์วัดอรุณราชวราราม

ภายในห้องจัดแสดง

– แบบจำลองบานประตูพระวิหารวัดสุทัศนเทพวราราม เป็นประติมากรรมที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงลงลายพระหัตถ์สลักภาพ ลายเครือเถารูปป่าหิมพานต์ และภาพสิงสาราสัตว์นานาชนิดมีลวดลายสลักซับซ้อนหลายชั้นวิจิตรงดงาม 

– หัวหุ่นพระยารักน้อย พระยารักใหญ่ แกะสลักด้วยไม้รัก เป็นงานประติมากรรมฝีพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย 

– แบบจำลองพระปรางค์วัดอรุณราชวราราม พระอารามประจำรัชกาล ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมที่มีขนาดหนัก แต่สามารถจะสร้างบนดินอ่อนที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาได้และยืนมาถึงกว่า ๒๐๐ ปี โดยไม่ทรุดลงไป เป็นประจักษ์พยานให้เห็นว่าคนรุ่นนั้นมีศิลปวิทยาชั้นสูง ความงามของพระปรางค์วัดอรุณราชวรารามนั้น เป็นที่สรรเสริญไปในนานาประเทศทั่วโลก

การจัดแสดงในห้องนี้ เป็นการจัดแสดงเพื่อให้เห็นถึงพระอัจฉริยภาพในด้านสถาปัตยกรรม ประติมากรรม และประณีตศิลป์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยอย่างชัดเจน ทำให้เห็นได้ว่า พระองค์ทรงเป็นบรมปรมาจารย์ในงานศิลปะหลายสาขาด้วยพระองค์เอง นอกจากนี้ ยังมีการจัดแสดงเครื่องถ้วยเบญจรงค์ลายน้ำทองในสมัยของพระองค์

ห้องจัดแสดงพระอัจฉริยภาพในด้านวรรณศิลป์

ภาพตู้หุ่นละครในบทพระราชนิพนธ์ เรื่องอิเหนา

พระอัจฉริยภาพในด้านวรรณศิลป์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เป็นที่ประจักษ์แก่ปวงชนชาวไทยว่า พระองค์ทรงเป็นกวีเอก ทรงมีผลงานพระราชนิพนธ์ชั้นเยี่ยมมากมายที่ควรค่าแก่การศึกษา ซึ่งจะทำให้ผู้เข้าชมได้เห็นคุณค่าและซาบซึ้งในอรรถรสของวรรณคดีไทย ภายในห้องจัดแสดงตู้หุ่นละครในบทพระราชนิพนธ์ เป็นตัวละครเรื่องรามเกียรติ์ เรื่องอิเหนา เรื่องมณีพิชัย และเรื่องสังข์ทอง ซึ่งตู้หุ่นละครเหล่านี้จัดทำโดยอาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต ศิลปินแห่งชาติ นอกจากนี้ ยังมีภาพผ้าปักไหมน้อยแสดงเรื่อง คาวี ฝีมือการปัก โดยสมาชิกศิลปาชีพในมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ

ห้องจัดแสดงพระอัจฉริยภาพในด้านนาฏศิลป์

ภาพการจัดแสดงหนังใหญ่ตัวยักษ์

ในรัชสมัยของพระองค์เรียกได้ว่าเป็นยุคทองแห่งนาฏศิลป์ เจริญสูงสุดเป็นแบบฉบับของนาฏศิลป์จนถึงปัจจุบัน ภายในห้องจัดแสดงเรื่องราวที่เกี่ยวกับตัวละครในบทพระราชนิพนธ์เรื่องรามเกียรติ์ อาทิ หัวโขนพระราม พระลักษมณ์ หนุมาน หนังใหญ่ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังได้นำเสนอวีดิทัศน์การแสดงนาฏศิลป์โขน ซึ่งจัดแสดง ณ โรงละครกลางแจ้งของอุทยานฯ ในวันงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเป็นประจำทุกปี

ส่วนบริเวณชั้นล่างของเรือนอาวุธสร้าง มีพื้นที่โล่งสำหรับใช้จัดกิจกรรมต่างๆ เช่น กิจกรรมการเรียนการสอนงานช่างศิลป์ไทยในโครงการสืบทอดศิลปวัฒนธรรมของมูลนิธิฯ การจัดอบรม ประชุมสัมมนา การจัดเลี้ยงรับประทานอาหาร เป็นต้น อีกทั้ง มีเวทีสำหรับจัดแสดงศิลปวัฒนธรรมต่างๆ และมีห้องรับรองสำหรับเป็นที่พักรับรองกรรมการของมูลนิธิฯ และคณะผู้ตามเสด็จอาวุโส