พระราชประวัติ รัชกาลที่ ๒

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๒ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ พระองค์ทรงมีคุณูปการยิ่งใหญ่แก่ชาติบ้านเมือง

ทรงพระปรีชาสามารถเชี่ยวชาญในศาสตร์และศิลปหลากหลาย นับได้ว่าเป็นพระมหาราชเจ้าผู้ทรงพระคุณอันยิ่งใหญ่แก่ ชาติและปวงชนชาวไทย ควรที่คนไทยทุกยุคทุกสมัย จะน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ และเจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาทในการแทนคุณแก่แผ่นดินมาตุภูมิ

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี ทรงพระราชสมภพ เมื่อวันพุธ เดือน ๔ ขึ้น ๗ ค่ำ ปีกุน ตรงกับวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๓๑๐ ณ นิวาสสถาน ตำบลอัมพวา เมืองสมุทรสงคราม พระนามเดิม “ฉิม” ขณะนั้นกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าข้าศึกแล้ว บ้านเมืองระส่ำระสายแบ่งเป็นก๊กเป็นเหล่า ถึง ๖ ชุมนุม พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงดำรงตำแหน่งหลวงกระบัตรเมืองราชบุรี

เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย มีพระชนมายุ ๒ พรรษา พระบรมชนกนาถทรงรับราชการในกรุงธนบุรี และได้ย้ายนิวาสสถานมาอยู่ที่ด้านใต้ของวัดระฆังโฆษิตาราม หรือ ที่เรียกกันว่า “วัดบางว้าใหญ่” เมื่อทรงพระเยาว์ ได้ทรงศึกษาเล่าเรียนกับสมเด็จพระวันรัต ทองอยู่ (วัดระฆังโฆษิตาราม) และทรงผนวชเมื่อพระชนมายุ 19 พรรษา จำพรรษา ณ วัดสมอราย (วัดราชาธิวาส)

ในสมัยกรุงธนบุรี บ้านเมืองอยู่ในระหว่างศึกสงครามโดยตลอด พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้โดยเสด็จ สมเด็จพระบรมชนกนาถไปในราชการสงคราม ตั้งแต่มีพระชน พรรษา ๘ พรรษา เช่น ในการรบพม่าที่เชียงใหม่ รบพม่าที่บ้านบางแก้ว เขาชะงุ้ม แขวงเมืองราชบุรี ในการศึกอะแซหวุ่นกี้ที่เมืองพิษณุโลก ตีกรุงศรีสัตนาคนหุต ครั้งที่เชิญพระแก้วมรกตมาสู่กรุงธนบุรี และการรบที่กัมพูชา นายทองต่อ กล้วยไม้ ณ อยุธยา เขียนไว้ในบทความอ่านทางวิทยุกระจายเสียง

กรมประชาสัมพันธ์ว่า “มีเรื่องเล่าสืบ ๆ กันมาว่า ขณะเมื่อทรงพระเยาว์ ในการตามเสด็จไปในพระราชสงครามนั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระบรมชนกนาถ โปรดให้พระองค์ร่วมทรงม้าพระที่นั่งเกาะพระปฤษฎางค์พระองค์แล้วเอาผ้ามัด ทั้ง ๒ พระองค์ไว้ด้วยกัน เข้าสู่สมรภูมิ”

ครั้นเมื่อทรงเจริญวัยขึ้น ทรงรับตำแหน่งปลัดทัพบ้าง ยกกระบัตรทัพบ้าง และคงตามเสด็จไปกับสมเด็จพระบรมชนกนาถ ในการสงคราม จึงเป็นนักรบคู่พระทัย มีความรู้ความชำนาญ และมีประสบการณ์อย่างยอดเยี่ยมในการศึกสงคราม

ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้โดยเสด็จไปในการพระราชสงครามครั้งสำคัญๆ หลายครั้ง เช่น สงครามที่ลาดหญ้า ศึกพม่าที่ท่าดินแดง อันเป็นการศึกสงครามครั้งสำคัญมากในการปราบปรามขับไล่อริราชศัตรูให้พ้นจาก ผืนแผ่นดินไทย นำความร่มเย็นมาสู่พสกนิกร ทรงอุปราชาภิเษกเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล เมื่อพระชนมพรรษา ๔๑ พรรษา เมื่อพระชนมพรรษา ๔๓ พรรษา ได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติสืบต่อจากพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระบรมชนกนาถ เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ ๒ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์

เหตุการณ์สำคัญ โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมจัดพิธีอุปราชาภิเษก ให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าจุ้ย ในรัชกาลที่ ๑ ขึ้นเป็น สมเด็จพระบวรราชเจ้า มหาเสนานุรักษ์ กรมพระราชวังบวรสถานมงคลพระมหาอุปราชเจ้า สถาปนาพระราชชนนีขึ้นเป็นกรมสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ พระราชชนนีในรัชกาล ๒ กรุงสยามมีการเปลี่ยนธงประจำชาติ จากธงแดง เป็นธงช้าง มีลักษณะพื้นสีแดง ตรงกลางเป็นวงกลมสีขาว มีรูปช้างเผือกสีขาวภายในวงกลม แต่เมื่อจะใช้ชักเป็นธงบนเรือสินค้า ให้งดวงกลมออกเสีย เหลือแต่รูปช้างเผือกสีขาวเท่านั้น ดังนั้น บันทึกที่พบในต่างประเทศจึงระบุว่ากรุงสยาม ใช้ธงประจำชาติเป็นรูปช้างเผือกสีขาวบนพื้นแดง ดูเรื่อง ธงชาติไทย

  • พ.ศ. ๒๓๕๒ เจ้าฟ้ากรมขุนกษัตรานุชิตกับพวก คิดกบฏ โปรดเกล้าฯ ให้กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ชำระความ สงครามกับพม่าที่เมืองถลาง
  • พ.ศ. ๒๓๕๓ ราชทูตญวนมาขอเมืองบันทายมาศ เจริญพระราชไมตรีกับประเทศจีน
  • พ.ศ. ๒๓๕๔ โปรดเกล้าฯ ให้เจ้านายไปกำกับราชการตามกระทรวงต่างๆ โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพนักงานออก “เดินสวนเดินนา” เกิดอหิวาตกโรคครั้งใหญ่ โปรดเกล้าฯ ให้มีพระราชพิธี “อาพาธพินาศ” โปรดเกล้าฯ ให้กองทัพไทย ไประงับความวุ่นวายในกัมพูชา
  • พ.ศ. ๒๓๕๙ โปรดเกล้าฯ ให้จัดการปรับปรุงการสอบปริยัติธรรมใหม่ กำหนดขึ้นเป็น ๙ ประโยค
  • พ.ศ. ๒๓๖๐ ทรงฟื้นฟูพิธี วิสาขบูชา
  • พ.ศ. ๒๓๖๑ ขยายเขตพระบรมมหาราชวังจนจรดวัดพระเชตุพน สมณทูตกลับจากลังกา เจ้าเมืองมาเก๊า ขอเจริญสัมพันธไมตรี
  • พ.ศ. ๒๓๖๒ หมอจัสลิส มิชชันนารีประจำย่างกุ้ง หล่อตัวพิมพ์อักษรไทยเป็นครั้งแรก
  • พ.ศ. ๒๓๖๓ ฉลองวัดอรุณราชวราราม สังคายนาบทสวดมนต์ โปรตุเกสตั้งสถานทูต
  • พ.ศ. ๒๓๖๕ เซอร์จอห์น ครอฟอร์ด เป็นทูตเข้ามาเจริญสัมพันธไมตรี
  • พ.ศ. ๒๓๖๗ เสด็จสวรรคต
บทความที่เกี่ยวข้อง