พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตเลขา เล่ม ๒
พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตเลขา เล่ม ๒ กรมศิลปากรจัดพิมพ์ พุทธศักราช ๒๕๓๕
ในปีมะเส็ง สัปตศกนั้น ฝ่ายข้างพุกามประเทศ มังโพเชียงซึ่งชี่อตแคงแปงตแล น้องพระเจ้าปดุงนั้นคิดการกบฏ พระเจ้าปดุงให้จับประหารชีวิตเสีย แล้วได้ทราบอึงกิดาการแห่งกรุงไทยว่าผลัดแผ่นดินใหม่ จึงดำริการสงครามซึ่งจะมาตีพระนครศรีอยุธยา ให้เกณฑ์กองทัพพม่ามอญเมงทวายยะไข่กะแซลาวละเงี้ยว เป็นคนหลายหมื่นหลายทัพ ให้เนมโยคุงนรัดเป็นแม่ทัพกองหน้า กับนัดมิแลงหนึ่ง แบตองจาหนึ่ง ปเลิงโบ่หนึ่ง นัดจักกีโบ่หนึ่ง ตองพยุงโบ่หนึ่ง ถือพลสองพันห้าร้อย เป็นทัพบกยกมาทางเหนือมฤต มาตีเมืองชุมพร เมืองไชยา ให้แกงหวุ่นแมงยีถือพลสี่พันห้าร้อยเป็นแม่ทัพยกหนุนมาทางหนึ่ง แล้วเกณฑ์ทัพเรือให้ญี่หวุ่นเป็นแม่ทัพกับบาวาเชียงหึ่ง แองยิงเดชะหนึ่ง ปคินยอหนึ่ง ถือพลสามพันยกมาตีเมืองถลาง ให้แกงหวุ่นแมงญีเป็นโบชุก บังคับทั้งทัพบกทัพเรือ และทางทวายนั้นให้ทวายหวุ่นเจ้าเมืองทวาย เป็นแม่ทัพหน้า กับจิกแกปลัดเมืองทวายหนึ่ง มณีจอย่องหนึ่ง สีหแยจอข่องหนึ่ง เบยะโบ่หนึ่ง ถือพลสามพันยกมาทางด่านเจ้าขว้าว ให้จิกสินโบ่เป็นแม่กองทัพหนุน กับตเรียงยามะชูหนึ่ง มณีสินตหนึ่ง สุรินทจอข่องหนึ่ง ถือพลสามพันหกยกหนุนมา แลกให้อนอกแผกดิกหวุ่นถือพลสี่พัน เป็นโบชุกแม่ทัพ ทั้งสามกองเป็นคนหมื่นหนึ่ง ยกมาตีเมืองราชบุรีทางหนึ่ง และทางเมาะตะมะนั้น ให้เมี้ยนหวุ่นเป็นแม่กองทัพหน้าที่หนึ่ง กับขุนนางสิบนายคือ กลาหวุ่นหนึ่ง ปิลุงยิงหนึ่ง สะเลจอหนึ่ง ปินญาอูหนึ่ง อากาจอแทงหนึ่ง ลานซางโบ่หนึ่ง อคุงหวุ่นหนึ่ง ปันญีตะจวงหนึ่ง ละไมหวุ่นหนึ่ง ชุยตองอากาหนึ่ง ถือพลหมื่นหนึ่งยกมา ทางด่านพระเจดีย์สามองค์ แล้วให้เมี้ยนเมหวุ่นเป็นแม่กองทัพหน้าที่สอง กับย่อยแหลกยาแยข่องหนึ่ง จอกกาโบ่หนึ่ง จอกแยโบ่หนึ่ง ตะเหรี่ยงปันญีหนึ่ง ถือพลห้าพันยกหนุนมาอีกทัพหนึ่ง และทัพที่สามนั้นให้ตแคงกามะพระราชบุตรที่สามเป็นแม่ทัพ กับยานจุหวุ่นหนึ่ง จิดกองสิริยหนึ่ง แยเลหวุ่นหนึ่ง อตวนหวุ่นหนึ่ง ถือพลหมื่นหนึ่ง ยกหนุนมาอีกทัพหนึ่ง แลกทัพที่สี่นั้นให้ตะแคงจักกุราชบุตรที่สองเป็นแม่ทัพกับเมฆาราโบหนึ่ง อกิตอหนึ่ง อากาปันญีหนึ่ง มโยลัดหวุ่นหนึ่ง ถือพลหมื่นหนึ่ง ยกหนุนมาอีกทัพหนึ่ง แลก กองทัพหลวงพระเจ้าปดุงเจ้าอังวะเป็นที่ห้า ไพร่พลสองหมื่น ให้อแซวังมูเป็นกองหน้า กับจาวาโบหนึ่ง ยะไข่โบ่หนึ่ง ปกันหวุ่นหนึ่ง ลอกาซุงถ่องหวุ่นหนึ่ง เมจุหวุ่นหนึ่ง เป็นหกนาย และปีกขวานั้นให้มหยอกวังมูเป็นแม่กอง กับอำมลอกหวุ่นหนึ่ง ตวนแซหวุ่นหนึ่ง แลกจะลอพวาหนึ่ง ยัดจอกโบ่หนึ่ง งาจุหวุ่นหนึ่ง เป็นหกนายและปีกซ้ายนั้น ให้ตองแวมูเป็นแม่กอง กับแลกรุยกี่มูหนึ่ง ญวนจุหวุ่นหนึ่งเยกีหวุ่นหนึ่ง สีบอจอพวาหนึ่ง เป็นหกนาย และกองทัพหลังนั้น ให้อหนอกแวงมูเป้นแม่กองกับรวาลักหวุ่นหนึ่ง ออกกะมาหวุ่นหนึ่ง โมกองจอพวาหนึ่ง โมเยียงจอพวาหนึ่ง โมมิกจอพวาหนึ่ง เป็นหกนาย สิริทั้งห้าทัพเป็นคนห้าหมื่นห้าพัน ยกมาทางเมืองกาญจนบุรีทางหนึ่ง และทางเมืองตากนั้น ชุกตองเวละจอแทงเป็นแม่ทัพ กับชุยตองนรทาหนึ่ง ชุยตองสิริยจอพวาหนึ่ง ถือพลสามพันเป็นกองหน้า ให้จอข่องนรทาถือพลสองพันเป็นกองหนุน ทั้งสองทัพเป้นคนห้าพัน ยกมาทางหนึ่ง ทางเมืองเชียงใหม่นั้น ให้สโดะมหาสิริยอุจนา เจ้าเมืองตองอูเป็นโบชุกแม่ทัพ กับนายทัพนายกองเป็นหลายนาย ถือพลสองหมื่นสามพันยกมาทางหนึ่ง ครั้นมาถึงเมืองเชียงแสน สโดะมหาสิริยอุจนา จึงบังคับให้เนมโยสีหซุยะเป็นแม่ทัพกับปันญีตจองโบ่หนึ่ง ลุยลันตองโบ่หนึ่ง หลันโบ่หนึ่ง มัดซุมรันโบ่หนึ่ง มิกอุโบ่หนึ่ง แยจอนรทาหนึ่ง สาระจอชูหนึ่ง เป็นแปดนาย ถือพลห้าพัน แยกแยกมาตีเมืองสวรรค์ดลกทางหนึ่ง เมืองสุโขทัยทางหนึ่ง เมืองพิษณุโลกทางหนึ่ง แลกทางแจ้ห่มนั้น แต่งให้อาปรกามนีเจ้าเมืองเชียงแสนเป็นแม่ทัพ กับพระยายองหนึ่ง พระยาไชยหนึ่ง เชียงกเลหนึ่ง น้อยอรรถหนึ่ง เป็นห้านาย ถือพลพม่าลาวสามพันเป็นกองหน้า สโดะมหาสิริยอุจนา เป็นแม่ทัพ กับแจกแกโบ่หนึ่ง อดุงหวุ่นหนึ่ง อุติงแจกกะโบ่หนึ่ง เนมโยยันตมิกหนึ่ง พระยาแพร่เหนือ เป็นหกนาย ถือพลหมื่นห้าพัน ทั้งสองทัพเป็นคนหมื่นแปดพันยกมาตีเมืองนครลำปางทางหนึ่ง และกองทัพพม่ายกมาครั้งนั้นมากกว่าหลายทัพหลายกองยิ่งกว่าครั้งก่อนๆ สิริรี้พลทั้งสิ้นทุกทัพเป็นคนถึงแสนหนึ่งกับสามพันด้วยกัน สรรพด้วยช้างม้าเครื่องสรรพศัตราวุธพร้อมทุกทัพทุกกอง แต่ยกมาหาพร้อมกันทุกทางมา
ฝ่ายพระเจ้าอังวะ ให้อินแซะมหาอุปราชราชบุตรผู้ใหญ่กับอินแซะหวุ่นอำมาตย์อยู่รักษาพระนครแล้วก็ยกทัพบกทัพเรือพร้อมทัพอยู่ ณ เมืองเมาะตะมะ เร่งให้ทัพหน้าที่หนึ่งยกมาตั้งอยู่ ณ เมืองสมิ แล้วเดินทัพล่วงเข้ามาถึงด่านพระเจดีย์สามองค์ก่อนทัพทางอื่นๆทั้งนั้น
ฝ่ายข้างพระนครศรีอยุธยา ถึง ณ วันอาทิตย์ เดือน ๑๒ แรม ๙ ค่ำ พวกกองมอญออกไปตระเวนด่านกลับเข้ามากราบทูลว่า รู้ข่าวว่าพม่ายกกองทัพมาตั้งอยู่ ณ เมืองสมิ จะยกเข้ามาตีพระนคร
พระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ ได้ทรงทราบข่าวศึกดังนั้น จึงดำรัสให้ประชุมพระราชวงศานุวงศ์ มีกรมพระราชวังบวรสถานพิมุขฝ่ายหลังเป็นต้น กับทั้งท้าวพระยาเสนาบดีมนตรีมุขทั้งหลายพร้อมกัน ดำรัสปรึกษาราชการสงครามเป็นหลายเวลา ในลำดับนั้นหนังสือบอกเมืองชุมพร เมืองถลาง เมืองกาญจนบุรี เมืองราชบุรี เมืองตาก เมืองกำแพงเพชน เมืองพระพิษณุโลก เมืองสุโขทัย เมืองสวรรคโลก เมืองนครลำปาง บอกข้อราชการศึกว่าทัพพม่ายกมาเป็นหลายทัพหลายทาง ทั้งปากใต้ฝ่ายเหนือ และหนังสือบอกมาถึงเนื่องๆ กัน
สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง จึงมีพระราชโองการโปรดให้สมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรฯ เสด็จพระราชดำเนินพยุหโยธาทัพหลวงไปรับทัพพม่าข้าศึกทางเมืองกาญจนบุรี โปรดให้เจ้าพระยารัตนาพิพิธผู้ว่าราชการ ณ ที่สมุหนายก คุมกองทัพท้าวพระยาข้าทูลละอองธุลีพระบาทฝ่ายพระราชวังหลวง และทัพหัวเมืองทั้งปวงโดยเสด็จพระราชดำเนินอีกทัพหนึ่ง แล้วโปรดให้เจ้าพระยาธรรมาธิบดีกับเจ้าพระยายมราชเป้นแม่ทัพยกกองทัพออกไปตั้งรับพม่า ณ เมืองราชบุรีกองทัพหนึ่ง แลพทางเหนือนั้นมีพระราชดำรัสให้พระเจ้าหลานเธอ กรมพระราชวังบวรสถานพิมุขฝ่ายหลัง กับสมเด็จพระเจ้าหลานเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงนรินทร์ณเรศ และเจ้าพระยาเสนาบดีศรีสมุหพระกลาโหม เจ้าพระยาพระคลัง พระยาอุทัยธรรม และท้าวพระยาข้าราชการในกรุงฯ และหัวเมืองทั้งปวง ยกกองทัพไปตั้งรับพม่า ณ เมืองนครสวรรค์ทัพหนึ่ง
ครั้นถึงวันศุภวารมหาพิชัยมงคลนักขัดฤกษ์ ในมิคสิรมาสศุกรปักษ์ดิถึ จึงสมเด็จพระอนุชาธิราชกรมพระราชวังบวรฯ ก็กราบถวายบังคมลาสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชเจ้า เสด็จทรงเรือพระที่นั่งบัลลังก์แก้วจักรพรรติปิดทองทีบ พระที่นั่งสวัสดิชิงชัยประกอบพื้นดำทรงพระชัยนำเสด็จ พร้อมด้วยเรือท้าวพระยาข้าทูลละอองธุลีพระบาทโดยเสด็จดาษดา ดำเนินพยุหโยธา ทัพหลวงจากกรุงเทพพระมหานครโดยทางชลมารค ดำรัสให้พระยากลาโหมราชเสนา พระยาจ่าแสนยากร เป็นกองหน้า ให้เจ้าพระยารัตนาพิพิธผู้ว่าที่สมุหนายกเป็นกองทัพเกียกกาย สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงจักรเจษฎาเป็นยกกระบัตร พระยามนเทียรบาลเป็นกองหลัง และพลทหารในกองทัพหลวงทั้งสิ้นนั้นเป้นคนสามหมื่นสรรพด้วยช้างม้าเครื่องสรรพศัตราวุธปืนใหญ่ปืนน้อยเป็นอันมาก ดำเนินทัพไปทั้งทางบกทางเรือ ถึงตำบลลาดหญ้า เหนือเมืองกาญจนบุรี จึงมีพระราชบัณฑูรดำรัสให้หยุดทัพหลวงอยู่ที่นั่น แล้วให้กองหน้ากองหนุนตั้งค่ายกันอยุ่เป็นหลายค่าย ชักปีกกาถึงกันทุกๆค่าย และค่ายหลวงนั้นตั้งห่างค่ายหน้าลงมาทางห้าเส้น แล้วให้ขุดสนามเพลาะปักขวากหนามตามทำนองศึกพร้อมเสร็จ แล้วดำรัสให้พระยามหาโยธาคุมกองมอญสามพัน ยกออกไปตั้งค่ายขัดทัพอยู่ ณ ด่านกรามช้าง
ฝ่ายทัพเจ้าพระยาธรรมาธิบดี เจ้าพระยายมราช ถือพลห้าพันยกออกไปตั้งค่ายอยู่ ณ เมืองราชบุรีเป้นหลายค่าย และกองทัพกรมพระราชวังหลัง และกรมหลวงนรินทร์รณเรศพลหมื่นห้าพันก็ยกไปตั้งค่ายหลวงอยุ่ ณ เมืองนครสวรรค์ ให้เจ้าพระยามหาเสนาเป็นกองหน้า ไปตั้งค่าย ณ เมืองพิจิตร เจ้าพระยาพระคลัง และพระยาอุทัยธรรมเป็นกองหลัง ตั้งค่ายอยู่ ณ เมืองชัยนาท ระวังพม่าจะยกมาทางด่านเมืองอุทัยธานี
ฝ่ายกองทัพพระเจ้าอังวะซึ่งยกมาทางเมืองเมาะตะมะ ทัพหน้ที่หนึ่งล่วงเข้ามาทางด่านกรามช้างเข้าตีค่ายทัพพระยามหาโยธาแตกพ่ายเข้ามา แล้วเดินทัพมาถึงตำบลลาดหญ้าซึ่งทัพหลวงออกไปตั้งค่ายรับอยุ่นั้น และทัพหน้าที่สองก็ยกหนุนมาถึงเป็นคนหมื่นห้าพันด้วยกัน เมี้ยนหวุ่นกับเมี้ยนเมหวุ่นแม่ทัพทั้งสองกอง ก็ให้นายทัพนายกองทั้งปวงเกณฑ์พลทหารตั้งค่ายรายกันไปหลายค่าย ชักปีกกาถึงกัน และทัพตแคงกามะที่สามก็ยกหนุนมาตั้งค่ายอยู่ ณ ท่าดินแดง ทัพตแคงจักกุที่สี่ยกมาตั้งค่ายอยู่ ณ สามสบ ทัพหลวงพระเจ้าอังวะยกมาตั้งค่ายใหญ่อยู่ ณ พระเจดีย์สามองค์ที่แดนต่อแดน คอยฟังข้อราชการซึ่งกองหน้าจะบอกมาประการใด จะได้เกณฑ์ทัพอุดหนุนเพิ่มเติมมาช่วย แล้วให้เกณฑ์รี้พลกองลำเลียงขนเสบียงอาหารมาส่งกองหน้าซึ่งมาตั้งรบอยู่นั้นมิได้ขาด
สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวกรมพระราชวังบวรฯ จึงมีพระราชบัณฑูรดำรัสให้ท้าวพระยานายทัพนายกองทั้งปวง ยกพลทหารออกโจมตีค่ายพม่าๆ ต่อรบเป็นสามารถ พลทหารไทยทหารพม่าต่างยิงปืนโต้ตอบกันทั้งสองฝ่าย ล้มตายและลำบากทั้งสองข้าง ทัพไทยจะแหกหักเอาค่ายพม่ามิได้ก็ถอยเข้าค่าย จึงมีพระราชบัณฑูรให้ทำครกทำสากไว้ในค่ายหลวงสามสำรับ ดำรัสให้ประกาศแก่นายทัพนายกองและทหารทั้งปวงว่า ถ้าผู้ใดถอยหนีข้าศึก จะเอาตัวเองลงในครกโขลกเสีย แล้วดำรัสให้พระยาสีหราชเดโช พระยาท้ายน้ำ พระยาเพชรบุรี สามนายเป้นนายทัพกองโจร พระยารามคำแหง พระเสนานนท์ เป็นปลัดทัพถือพลห้าร้อย ยกลอดลัดป่าไปคอยสกัดตีตัดกองลำเลียงพม่าที่ตำบลพุไคร้ช่องแคบ อย่าให้พม่าส่งลำเลียงกันได้ พระยาสีหราชเดโชและท้าวพระยานายทัพนายกองทั้งปวงก็กราบถวายบังคมลายกพลทหารไปกระทำการตามพระราชกำหนด คอยสกัดตีกองลำเลียงพม่า จับพม่าได้บ้างก็ส่งลงไปยังทัพหลวง แล้วคิดย่อท้อต่อข้าศึก หลีกหนีไปตั้งซุ่มทัพอยู่ที่อื่น และขุนหมื่นในกองทัพมาฟ้องกล่าวโทษให้กราบทูลพระกรุณา จึงดำรัสให้พระยามนเทียรบาล และข้าหลวงหลายนาย ยกพลทหารไปจับตัวพระยานายทัพกองโจนทั้งสามนายประหารชีวิตเสีย ตัดศีรษะนำมาถวาย แต่ปลัดทัพสองนายนั้นให้เอาดาบสับศีรษะคนละสามเสี่ยง ให้ขุนหมื่นเป็นโจทก์นำทางไป พระยามนเทียรบาล และข้าหลวงทั้งปวง กราบถวายบังคมลายกไปถึงที่ทัพกองโจรไปตั้งซุ่มอยู่ จึงพิจารณาไต่ถามได้ความเป็นสัตย์สมคำโจทก์ จึงตัดศีรษะพระยาสีหราชเดโช พระยาท้ายน้ำ พระยาเพชรบุรีทั้งสามนายใส่ชะลอม แล้วเอาดาบสับศีรษะพระยารามคำแหง และพระเสนานนท์คนละสามเสี่ยง ตามพระราชบัณฑูรตรัสสั่ง แล้วนำเอาชะลอมใส่ศีรษะนายทัพทั้งสามกลับมากราบทูลถวาย ณ ค่ายหลวง มีพระราชบัณฑูรให้เอาศีรษะไปเสียบประจานไว้หน้าค่าย อย่าให้ผู้ใดเอาเยี่ยงอย่าง แล้วดำรัสให้พระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าขุนเณรเป้นนายทัพกองโจรกับข้าหลวงหลายนาย คุมพลทหารพันหนึ่งยกไปบรรจบกับกองโจรเดิมเป็นคนพันห้าร้อยไปคอยก้าวสกัดตีกองลำเลียงพม่าที่ตำบลพุไคร้ดังก่อน อย่าให้พม่าส่งเสบียงอาหารกันได้ กองทัพพม่าซึ่งมาตั้งรบอยู่นั้นได้ถอยกำลังลง พระองค์เจ้าขุนเณรและนายทัพนายกองทั้งปวงก็กราบถวายบังคมลายกไปกระทำการตามคำสั่ง คอยซุ่มสกัดตีตัดกองลำเลียงพม่า จับได้พม่าและช้างม้าโคต่างส่งมาถวายเนืองๆ
ฝ่ายแม่ทัพพม่าทั้งสองนาย ให้แต่งหอรบขึ้น ณ ค่ายหน้าเป็นหลายแห่ง ให้เอาปืนใหญ่ขึ้นตั้งบนหอรบยิงค่ายทัพไทย จึงมีพระราชบัณฑูรให้เอาปืนลูกไม้ครั้งแผ่นดินตากเข็นอกไปตั้งหน้าค่ายยิงค่ายและหอรบพม่าหักพังลงเป็นหลายตำบล และพลพม่าในค่ายถูกกระสุนปืนลูกไม้ล้มตายและลำบากเป็นอันมาก มิอาจยกออกนอกค่ายได้ รักษามั่นอยู่แต่ในค่าย ทั้งขัดเสบียงอาหารถอยกำลังลง จึงมีพระราชบัณฑูรให้แต่งหนังสือบอกข้อราชการสงครามให้ข้าหลวงถือเข้ามากราบบังคมทูลสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช ณ กรุงเทพมหานคร
พระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าหลวงได้ทรงทราบในข้อความราชการสงครามก็ทรงพระราชปริวิตกเกรงจะเอาชัยชนะข้าศึกมิได้โดยเร็ว ครั้นถึง ณ วันอาทิตย์ เดือนยี่ ขึ้น ๙ ค่ำ จึงเสด็จทรงเรือพระที่นั่งบัลลังก์บุษกพิศาลประกอบพื้นแดง พระที่นั่งพิมานเมืองอินทร์ประกอบื้นดำ ทรงพระชัยนำเสด็จ พร้อมด้วยเรือท้าวพระยาข้าทูลละอองธุลีพระบาท โดยเสด็จพระราชดำเนินเป็นอันมากและพลโยธาหาญในกระบวนทัพหลวงสองหมื่น เสด็จยาตรานาวาพลพยุหออกจากกรุงเทพมหานครไปโดยทางชลมารคถึงเมืองกาญจนบุรี สมเด็จพระอนุชาธิราชได้ทรงทราบ ก็เสด็จพระราชดำเนินลงมาถวายบังคมรับเสด็จ จึงทรงช้างพระที่นั่งพังเทพลีลาสูง ๕ ศอก ๖ นิ้ว ผูกกูบทองพร้อมด้วยเครื่องพระกรรภิรมย์ และธงชัยราชกระบี่ธุชพระครุฑพาหนะแห่โดยขนาด พลโยธาหาญล้วนสวมใส่เสื้อสัดหลาดแดง หมวกแดง พรั่งพร้อมด้วยพลสารสินธพ และธงทวนกระบวนปีนนกสับสรรพอเนกวิวิธาศัตราวุธแหนแห่แลไสว ประโคมฆ้องชับเบญจดุริยดนตรีแตรสังข์กลวองชนะโครมคึกกึกก้องท้องทุรัถยางคพนสณฑสถาน สำเนียงพลทหารโห่ร้องบันลือศัพท์อุโฆษกาหลนฤนาทคลี่พยุหยาตราโยธาทัพหลวงบรรลุถึงพระตำหนักค่ายสมเด็จพระอนุชาราชเสด็จยาตราพระคชาธารเข้าประทับเกย เถลิง ราชาคารกะที่ประทับพลับพลาชัยแล้ว มีพระราชโองการดำรัสปรึกษาราชกิจการสงครามกับด้วยสมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้า สมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้าจึงกราบทูลพระกรุณาว่าทัพพม่าข้าศึกจวนจะแตกอยู่แล้ว อย่าทรงพระวิตกเลย ข้าพระพุทธเจ้าขอรับพระราชธุระอาสาในราชการงานสงคราม เอาชำนะพม่าปัจจามิตรสนองพระเดชพระคุณจงได้ขออัญเชิญเสด็จพระราชดำเนินกลับคืนยังพระนครเถิด จะได้ทรงพระราชดำริจัดแจงการซึ่งจะต่อสู้อริราชดัสกรในทางอื่นๆสืบไป สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงก็ทรงเห็นชอบด้วย ซึ่งสมเด็จพระบรมราชอนุชากราบทูลพระกรุณานั้น ครั้นเพลาค่ำลง จึงเสด็จยาตราทัพหลวงกลับมาโดยกระบวนราบ ถึงเมืองกาญจนบุรี แล้วเสด็จลงเรือพระที่นั่งดำเนินพลนาวาพยุหทัพกลับคืนยังพระมหานคร
ฝ่ายพม่าได้ยินเสียงรี้พลและเสียงช้างม้าฆ้องกลองกึกก้องสนั่นไปทั่วป่า จึงขึ้นดูบนหอรบเห็นทัพหลวงยกหนุนมา ช้างม้ารี้พลเป็นอันมาก ก็คิดครั่นคร้ามขามพระเดชานุภาพเป็นกำลัง แม่ทัพทั้งสองนายจึงให้เก็บเอาลูกปืนไม้ซึ่งยิงไปตกลงในค่าย ให้ตอญากับไพร่นำไปถวายพระเจ้าอังวะกราบทูลว่าไทบเอาไม้เป็นลูกปืน ต่อให้หมดสิ้นทั้งป่าจึงจะสิ้นกระสุนปืนเขา เมื่อใดไม้ในป่าจะสิ้น ซึ่งจะตีเอาเมืองไทยให้ได้นั้นเห็นเป็นเหลือกำลัง ทั้งกองโจรไทยก็มาตั้งซุ่มสกัดตีตัดลำเลียงเสบียงอาหารซึ่งจะส่งกันก็ขัดสนรี้พลก็อดอยากถอยกำลังลงทุกวันๆ จะขอพระราชทานล่าทัพ พระเจ้าอังวะก็เห็นด้วย จึงให้มีหนังสือตอบมาถึงแม่ทัพหน้า ว้าให้รั้งรอดูท่วงทีก่อน ถ้ารี้พลอิดโรยนักเห็นจะทำการไปไม่สำเร็จ จึงค่อยลาดทัพถอยอย่าให้เสียทีแก่ข้าศึก แม่ทัพได้แจ้งหนังสือรับสั่งพระเจ้าอังวะก็รั้งรออยู่ต่อรบแต่ในค่ายมิได้ยกออกรบนอกค่าย
สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวกรมพระราชวังบวรฯ จึงทรงพระราชดำริเป็นกลศึก เพลากลางคืนให้ผ่อนช้างม้ารี้พลลงมายังค่ายเมืองกาญจนบุรี ครั้นเพลาเช้าจึงให้ยกกลับขึ้นไปยังค่ายหลวง ให้เดินพลและช้างม้าเรี่ยรายกันเนื่องขึ้นไปอย่าให้ขาดตั้งแต่เช้าจนเย็น ลวงพม่าให้เห็นกองทัพยกหนุนขึ้นมาเป็นอันมาก กระทำดังนี้ทุกวันๆ
ฝ่ายพม่าขึ้นดูบนหอรบเห็นดังนั้น ก็สำคัญว่ากองทัพไทยยกเพิ่มเติมมากขึ้นมาทุกวัน ก็ยิ่งบ่อท้อเกรงกลัวเป้นอันมาก อนึ่ง ด้วยเดชะพระบรมโพธิสมภาร บันดาลให้รี้พลพม่าบังเกิดไข้ทรพิษป่วยเจ็บลำบากล้มตายก็มาก ทั้งขัดสนเสบียงอาหารกำลังศึกถอยลงทุกประการ
ครั้นถึง ณ วันศุกร์ เดือน ๓ แรม ๔ ค่ำ จึงมีพระราชบัณฑูรตรัสสั่งให้ท้าวพระยานายทัพนายกองทั้งปวง ยกพลทหารออกระดมตีค่ายพม่าทุกทัพทุกกอง ให้เอาปืนใหญ่ลากล้อออกยิงค่ายพม่าทุกๆค่าย ค่ายและหอรบหักพังทำลายลงเป็นหลายตำบล พม่าต่อรบยิงปืนใหญ่น้อยโต้ตอบอยู่ตั้งแต่เช้าจนค่ำ ครั้นเพลาประมาณทุ่มเศษ แม่ทัพพม่าเห็นเหลือกำลังจะต่อรบมิได้ ก็แตกฉานออกจากค่ายพ่ายหนีไป พลทหารไทยเข้าค่ายพม่าได้ทั้งสิ้น จับได้ผู้คนทั้งดีและป่วยกับเครื่องศัสตราวุธปืนใหญ่น้อยเป้นอันมาก จึงมีพระราชบัณฑูรตรัสสั่งให้กองทัพทั้งปวงยกติดตามพม่าไปจนปลายแดน จับได้พม่าซึ่งหนีไปมิทัน กับทั้งช้างม้าเครื่องศัสตราวุธมาถวายเป็นอันมาก
ฝ่ายกองดจรพระองค์เจ้าขุนเณร ได้แจ้งว่าทัพพม่าแตกพ่ายหนีแล้วก็ยกออกก้าวสกัดตีตามกลางทาง จับได้ผู้คนและเครื่องศัสตราวุธช้างม้าก็มากส่งลงมาถวาย ณ ค่ายหลวง แล้วยกติดตามไปถึงท่าดินแดงและสามสบ
ฝ่ายตแคงกามะแม่ทัพที่สามแจ่งว่าทัพหน้าแตกแล้วก็แต่งหนังสือบอกให้ม้าใช้รีบถือไปแจ้งแก่ตแคงจักกุแม่ทัพที่สี่ และกราบทูลพระเจ้าอังวะ แล้วก็เร่งเลิกทัพกลับไป พระเจ้าอังวะได้ทราบในหนังสือบอกว่าทัพหน้าแตกแล้วก็เสียพระทัย สั่งให้เลิกกองทัพทั้งปวงกลับไป ณ เมืองเมาะตะมะโดยเร็ว
สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวกรมพระราชวังบวรฯ เมื่อมีชัยชนะแก่พม่าปัจจามิตรสำเร็จราชการสงครามแล้ว จึงดำรัสให้ข้าหลวงถือหนังสือบอกเข้าไปกราบทูล ณ กรุงเทพมหานคร แล้วดำรัสให้กองทัพพระยากลาโหมราชเสนา พระยาจ่าแสนยากร ยกทัพบกลงมาทางด่านเมืองราชบุรี แล้วเสด็จลงเรือพระที่นั่งเคลื่อนทัพหลวงลงมาโดยกระบวนนาวาพยุหทางชลมารคมายังเมืองราชบุรี
ฝ่ายกองทัพพม่าซึ่งยกมาจากเมืองทวายนั้น เดินทัพมาช้าไม่พร้อมกัน ต่อทัพทางลาดหญ้าแตกไปแล้ว จึงพึ่งมาถึงด่านเจ้าขว้าว และทัพเจ้าเมืองทวายกองหน้ายกล่วงด่านเข้ามาตั้งค่ายอยู่นอกเขางูแดนเมืองราชบุรี ทัพจิกสินไปกองหนุนยกมาถึงด่าน ทักอนอกแผกดิกหวุ่นแม่ทัพมาตั้งค่ายอยู่ ณ ท้องชาตรี และไพร่พลพม่ากองหน้าลอบเข้ามาเก็บผลหมากมะพร้าวของสวนในแขวงเมืองราชบุรีเอาไปยังกองทัพ และเจ้าพระยายมราช เจ้าพระยาธรรมาแม่ทัพซึ่งตั้งค่ายอยู่ ณ เมืองราชบุรีนั้นมีความประมาท มิได้จัดแจงแต่งกองลาดตะเวนไปสืบราชการศึก หารุ้ว่ากองทัพพม่ายกเข้ามาตั้งอยุ่ที่ใดไม่
ฝ่ายกองทัพพระยากลาโหมราชเสนา พระยาจ่าแสนยากร ยกอ้อมป่ามาทางบก พบค่ายพม่าซึ่งตั้งอยุ่นอกเขางู ก็ขับพลทหารเข้าโจมตีหักเอาค่าย พม่าต่อรบเป็นสามารถ ยิงปืนใหญ่น้อยตอบโต้กันทั้งสองฝ่าย พลทหารไทยเข้าปีนเย่อค่าย ได้รบกันถึงตะลุมบอน พลพม่าต้านทานมิได้ก็แตกฉานพ่ายหนีอลหม่าน พลทัพไทยไล่ติดตามไปจนถึงด่าน กองหน้าพม่าที่แตกหนีไปนั้น ไปปะทะกองหนุนซึ่งตั้งอยู่ ณ ด่านก็พากันแตกหนีไปมิได้ต่อรบ กองทัพไทยจับได้ไพร่พลพม่าและได้เครื่องศัสตราวุธต่างๆแม่ทัพทั้งสองจึงแต่งหนังสือบอกข้อราชการซึ่งได้ชัยชนะแก่ข้าศึกกับทั้งพม่าเชลย และเครื่องศัสตราวุธ ให้นายไพร่ในกองทัพน้ำเข้ามากราบทูลถวาย พอทัพหลวงเสด็จมาถึงเมืองราชบุรี ได้ทรงทราบในหนังสือบอก จึงให้ลงพระราชอาญาจำเจ้าพระยายมราช เจ้าพระยาธรรมาแม่ทัพ และนายทัพนายกองทั้งปวงไว้ ณ ค่ายเมืองราชบุรี แล้วบอกเข้ามากราบทูลพระกรุณา ณ กรุงเทพมหานครว่าจะขอพระราชทานประหารชีวิตแม่ทัพทั้งสองเสีย
พระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าหลวง จึงได้โปรดให้มีตราตอบออกไปขอชีวิตเจ้าพระยาทั้งสองไว้ ด้วยมีความชอบมาแต่ก่อน ให้แต่ลงพระราชอาญากระทำโทษประจานตามพระอัยการศึก
สมเด็จพระอนุชาธิราชได้ทรงทราบในท้องตรารับสั่งแล้ว จึงให้ลงพระราชอาญาแก่เจ้าพระยาทั้งสอง ให้โกนศีรษะสามแฉกแล้วให้ตะเวนรอบค่ายให้ถอดเสียจากฐานาศักดิ์ แลกนายทัพนายกองทั้งปวงนั้น ให้ลงพระราชอาญาเฆี่ยนทั้งสิ้น แล้วเสด็จเลิกทัพคืนเข้าพระนคร ขึ้นเฝ้าสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช กราบทูลแถลงข้อราชการสงครามทั้งปวงแล้ว สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์จึงดำรัสปรึกษาราชการแก่กันว่า กองทัพพม่าซึ่งยกมาตีหัวเมืองชายทะเลฝ่ายตะวันตกนั้น ยังหาทันได้แต่งกองทัพออกไปต่อตีช่วยหัวเมืองทั้งปวงไม่ ด้วยศึกติดพันกันทางอยู่ใกล้พระนคร ต้องต่อรบทางที่ใกล้เสียก่อน บัดนี้ราชการสงครามทางใกล้ก็สำเร็จแล้ว จึงมีพระราชโองการดำรัสให้ สมเด็จพระอนุชาธิราชยาตรานาวาทัพหลวงออกไปทางทะเล ปราบปรามราชดัสกรหัวเมืองปากใต้ฝ่ายตะวันตก สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงพระราชดำเนินพยุหโยธาทัพหลวงไปหราบอริราชไพรี ณ หัวเมืองฝ่ายเหนือครั้นตรัสปรึกษาราชการสงครามกันเสร็จแล้ว สมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้าก็ให้จัดแจงเรือรบเรือทะเลเป็นอันมาก สรรพด้วยเครื่องสรรพศัสตราวุธปืนใหญ่น้อยพร้อมเสร็จ
ถึง ณ วันเสาร์ เดือน ๔ ขึ้น ๕ ค่ำ ได้มหาพิชัยนักขัดฤกษ์ สมเด็จพระอนุชาธิราชพระราชวังบวรฯ ก็กราบถวายบังคมลาสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชเจ้า เสด็จทรงเรือพระที่นั่งสำเภาทองท้ายรถ ให้ยาตรามหานาวาพยุหทัพหลวงออกจากกรุงเทพมหานคร ไปโดยทางท้องมะเลใหญ่ พลรบพลแจวสองหมื่นเศษล้วนพลข้าหลวงพระราชวังหน้าทั้งสิ้น ใช้ใบเรือรบทั้งปวงไปยังเมืองชุมพรเพื่อจะไปปราบอริราชดัสกร อันมาย่ำยีบีฑาพระราชอาณาเขต ณ หัวเมืองปากใต้ฝ่ายตะวันตกนั้น
พระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าหลวง จึงมีพระราชดำรัสให้เอาพม่าเชลยทั้งหลายซึ่งจับเป็นได้นั้นจำใส่คุกไว้ทั้งสิ้น แล้วโปรดให้พระยาเทพสุดาวดีเจ้ากรมสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอตำหนักใหญ่ ถือท้องตรารับสั่งขึ้นไปถึงสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ กรมพระราชวังบวรสถานพิมุขฝ่ายหลังว่า บัดนี้ราชการศึกทางเมืองราชบุรี เมืองกาญจนบุรี สมเด็จพระอนุชาธิราชกรมพระราชวังบวรสถานมงคล เสด็จพระราชดำเนินพลพยุหยาตราทัพหลวงไปปราบปัจจามิตรได้ชัยชนะสำเร็จแล้ว และราชการสงครามข้างหัวเมืองฝ่ายเหนือ แม้นกรมพระราชวังหลังกระทำไม่สำเร็จ พระเศียรก็จะมิได้คงอยู่กับพระกายเป็นแท้ และบัดนี้ทัพหลวงก็จะเสด็จพระราชดำเนินขึ้นมาโดยเร็วอยู่แล้ว
ครั้นถึง ณ วันศุกร์ เดือน ๔ ขึ้น ๑๑ ค่ำ ได้มหาพิชัยอุดมฤกษ์ สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงก็เสด็จทรงเรือพระที่นั่งบัลลังก์ทินกรส่องศรีลายรดน้ำพื้นแดง พระที่นั่งมณีจักรพรรดิลายรดน้ำพื้นดำทรงพระชัยนำเสด็จพร้อมเรือท้าวพระยาข้าทูลละอองธุลีพระบาท ผู้ใหญ่ผู้น้อยทั้งหลาย โดยเสด็จพระราชดำเนินตามกระบวนพยุหบาตราหน้าหลัง และพลโยธาหาญสามหมื่นสรรพด้วยเครื่องสรรพยุทธชิงชัยให้ยาตรานาวาพยุหทัพหลวงจากกรุงเทพมหานคร ประทับร้อนแรมไปโดยทางชลมารคถึงเมืองอินทบุรีให้ตั้งค่ายและพระตำหนักพลับพลาชัย เสด็จประทับอยู่ ณ ที่นั่น
ฝ่ายกองทัพสะโดะมหาสิริยอุจนายกมาถึงเมืองนครลำปาง ให้ตั้งค่ายล้อมเมืองไว้ และครั้งนั้นเมืองเชียงใหม่ร้างอยู่มิได้มีคนรักษา ด้วยพระยาวิเชียรปราการเจ้าเมือง ยกครอบครัวชาวเมืองหนีพม่าลงมาอาศัยอยู่ ณ เมืองสวรรคโลกแต่ครั้งแผ่นดินตาก ยังหาได้กลับขึ้นไปเมืองไม่ และตัวพระยาวิเชียรปราการนั้นถึงแก่กรรม ครอบครัวชาวเมืองทั้งปวงยกกลับขึ้นไปอยู่ ณ เมืองนครลำปางสิ้น ทัพพม่าจึงยกเลยเมืองเชียงใหม่ลงมาตีเมืองนครทีเดียว และพระยากาวิละเจ้าเมืองเกณฑ์พลทหารขึ้นรักษาหน้าที่เชิงเทินป้องกันเมืองเป็นสามารถ พม่าจะแหกหักเอาเมืองมิได้ ก็ตั้งมั่นล้อมเมืองไว้ และกองทัพเนมโยสีหซุยะพลห้าพันก็ยกลงมาทางเมืองสวรรคโลก พระยาสวรรคโลก พระยาสุโขทัย พระยาพิษณุโลก เห็นข้าศึกมากเหลือกำลัง ด้วยครั้งนั้นไพร่พลหัวเมืองฝ่ายเหนือทั้งปวงนั้นน้อย และผู้คนยับเยินเสียแต่ครั้งทัพอแซหวุ่นกี้นั้นเป็นอันมากที่ยังเหลืออยู่นั้นเบาบางนัก เจ้าเมืองทั้งปวงจึงมิได้ต่อรบ ต่างๆยกครอบครัวหนีเข้าป่า ทัพพม่าก็ยกล่วงเลยเมืองสวรรคโลก เมืองสุโขทัยลงมาตั้งค่ายอยู่ ณ ปากน้ำพิงฝั่งตะวันออก
ฝ่ายซุยตองเวระจอแทง ทั้งทัพพม่าทัพหนุนพลห้าพันก็ยกเข้าทางด่านเมืองตาก พระยากำแพงเพชรพระยาตากเห็นเหลือกำลังจะต่อรบ ก็เทครับหนีเข้าป่า ทัพพม่าก็ยกลงมาตั้งค่ายอยู่ ณ บ้านระแหงแขวงเมืองตาก
ฝ่ายกรมพระราชวังหลังได้ทรงทราบในท้องตรารับสั่ง ก็กลัวพระราชอาญาเป็นกำลัง มีพระบัญชาสั่งให้กองทัพเจ้าพระยามหาเสนาซึ่งตั้งค่ายอยู่ ณ เมืองพิจิตร ให้เร่งยกขึ้นไปตีค่ายพม่าซึ่งตั้งอยุ่ ณ ปากน้ำพิง เจ้าพระยามหาเสนา จึงแต่งให้กองทัพพระยาสระบุรีเป็นกองหน้ายกล่วงขึ้นไปก่อน แล้วเจ้าพระยามหาเสนาก็ยกหนุนขึ้นไป และทัพกรมพระราชวังหลัง กับกรมหลวงนรินทร์รณเรศก็ยกตามทัพเจ้าพระยามหาเสนาขึ้นไปในภายหลัง
ฝ่ายกองทัพพระยาสระบุรีกองหน้ายกขึ้นไปตามฝั่งแม่น้ำฟากตะวันออกแต่เพลาเช้าตรู่และเห็นฝูงนกกระทุงข้ามแม่น้ำมาเห้นตะคุ่มๆ ไม่เห็นถนัด และพระยาสระบุรีนั้นเป็นคนขลาดสำคัญว่าพม่ายกข้ามน้ำมา ก็สั่งให้รี้พลลาดถอย ต่อสว่างขึ้นจึงเห็นชัดว่าฝูงนกกระทุ่งมิใช่พม่า เจ้าพระยามหาเสนาและกรมพระราชวังหลัง ได้ทราบว่าพระยาสระบุรีตื่นฝูงนกกระทุงถอยทัพมา จึงให้เอาตัวพระยาสระบุรีมาประหารชีวิตเสีย เอาศรีษะเสียบไว้ที่หาดทราย แล้วบอกลงมากราบทูลพระกรุณายังทัพหลวงเทพหริรักษ์ยกไปบรรจบกับทัพเจ้าพระยาพระคลัง พระยาอุทัยธรรมซึ่งตั้งค่ายอยู่ ณ เมืองชัยนาท ให้ยกขึ้นไปทางปากน้ำโพ ตีทัพพม่าซึ่งมาตั้งค่ายอยู่ ณ บ้านระแหงให้แตกโดยเร็ว แล้วทัพหลวงก็เสด็จขึ้นไปตั้งค่ายใหม่อยู่ ณ บางข้าวตอก ให้เรือตำรวจขึ้นไปเร่งกองทัพกรมพระราชวังหลัง และเจ้าพระยามหาเสนาให้ยกเข้าตีค่ายพม่า ณ ปากน้ำพิงให้แตกแต่ในวันเดียว แม้นเนิ่นช้าไปจะเอาโทษถึงสิ้นชีวิต และกรมพระราชวังหลังกับเจ้าพระยามหาเสนาได้แจ้งในข้อรับสั่งดังนั้นก็ตรวจเตรียมพลทหารทุกทัพทุกกองพร้อมเสร็จ
ครั้นถึง ณ วันอาทิตย์ เดือน ๔ แรม ๔ ค่ำ เพลาเช้า ก็ยกพลทหารทั้งปวงเข้าโจมตีค่ายพม่าทุกๆ ค่ายพม่าต่อรบเป้นสามารถ ยิงปืนใหญ่น้อยโต้ตอบกันทั้งสองฝ่าย รบกันแต่เช้าจนค่ำ ด้วยเดชะพระบรมโพธิสมภารบันดาลให้พวกพม่าสยบสยอนย่อท้อเกรงกลัวพระราชกฤษฎาเดชานุภาพเป็นกำลัง มิดาจต่อต้านได้ พอเพลาประมาณยามหนึ่ง ทัพพม่าก็แตกฉานพ่ายหนีออกจากค่ายทุกๆค่ายลงข้ามแม่น้ำหนีไปฟากตะวันตกทั้งสิ้น แต่จมน้ำตายทั้งคนทั้งม้าประมาณแปดร้อยเศษ เอาศพลอยเต็มแม่น้ำจนน้ำกินมิได้ พลทัพไทยไล่ติดตามจับได้เป็นอันมาก กรมพระราชวังหลัง และเจ้าพระยามหาเสนาจึงให้ม้าใช้รีบลงไปกราบทูลพระกรุณา ณ ค่ายหลวงบางข้าวตอก ว่าตีทัพพม่าแตกไปแล้ว
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงทราบก็ทรงพระโสมนัสดำรัสให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงจักรเจษฐายกกองทัพออกจากทัพหลวงขึ้นไปบรรจบทัพเจ้าพระยามหาเสนา ณ ปากน้ำพิงให้ยกติดตามพม่าซึ่งแตกขึ้นไป ช่วยเหลือเมืองนครลำปางตีทัพพม่าซึ่งตั้งล้อมเมืองนครลำปางอยุ่นั้นให้แตกฉานจงได้ แล้วดำรัสให้ข้าหลวงขึ้นไปเชิญเสด็จกรมพระราชวังหลัง และกรมหลวงนรินทร์รณเรศลงมาเฝ้ายังค่ายหลวง กรมพระราชวังหลัง และกรมหลวงนรินทร์รณเรศก็ให้เลิกกองทัพลงมาตามพระราชกำหนดให้คุมเอาพม่าเชลยวึ่งจับได้นั้นใส่ตะโหงกส่งมาถวาย จึงมีพระราชดำรัสให้ตัดศรีษะพม่าเชลยเสียบไว้ตามหากทรายรายลงมาทุกคุ้งน้ำจนถึงเมืองนครสวรรค์ เหลือกว่านั้นให้จำมาทั้งสิ้น แล้วก็เลิกทัพหลวงลงมาตั้งประทับอยู่ ณ ค่ายเมืองนครสวรรค์รอฟังราชการทัพซึ่งยกไปตีทัพพม่าทางระแหงแควปากน้ำโพนั้น
ฝ่ายกองทัพกรมหลวงเทพหริรักษ์ยกขึ้นไปถึงเมืองกำแพงเพชร จึงให้ทัพเจ้าพระยาพระคลัง พระยาอุทัยธรรมเป็นกองหน้ายกล่วงไปก่อนยังมิทันถึงค่ายพม่าซึ่งตั้งอยู่ ณ บ้านระแหงนั้น และซุยตองเวระจอแทงแม่ทัพได้แจ้งข่าวว่ากองทัพทางปากน้ำพิงนั้นแตกไปแล้ว แล้วแจ้งว่าทัพไทยยกล่วงเมืองกำแพงเพชรขึ้นมา ก็มิได้ตั้งอยู่ต่อรบ เลิกทัพหนีไปทางด่านแม่ลำเมา เจ้าพระยาคลัง พระยาอุทัยธรรมแต่งกองลาดตระเวนไปสืบรู้ว่าทัพพม่าเลิกหนีไปแล้ว ก็บอกลงมาทูลกรมหลวงเทพหริรักษ์ กรมหลวงเทพหริรักษ์ก็บอกลงมากราบทูลพระกรุณา ณ เมืองนครสวรรค์
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงทราบว่าศึกเลิกไปสิ้นแล้ว ก็ดำรัสให้ข้าหลวงไปหากองทัพกรมหลวงเทพหริรักษ์กลับมายังเมืองนครสวรรค์ แล้วก็เสด็จพระราชดำเนินทัพหลวงกลับยังพระมหานคร
ฝ่ายกองทัพเนมโยสีหซุยะซึ่งแตกไปแต่ปากน้ำพิงถึงค่ายล้อมเมืองนครลำปาง จึงแจ้งความแก่สโดะมหาสิริยอุจนาซึ่งเป็นโบชุกแม่ทัพใหญ่ว่า ได้รบกับไทยเสียทีมา และกองทัพไทยก็ยกติดตามขึ้นมาจวนจะถึงเมืองนครอยู่แล้ว พอกองทัพเจ้าพระยามหาเสนา และกรมหลวงจักรเจษฎายกขึ้นไปถึงเมืองนคร ก็ให้นายทัพนายกองทั้งปวงยกพลทหารเข้าระดมตีค่ายพม่าซึ่งตั้งล้อมเมือง และสะโดะมหาสิรินอุจนาแม่ทัพกับอาปรกามนีให้พลพม่าออกต่อรบ ได้รบกันแต่เช้าจนเที่ยง ทัพพม่าก็แตกฉานทิ้งค่ายเสียพ่ายหนีไปสิ้น ไปพร้อมทัพกันอยู่ ณ เมืองเชียงแสน กองทัพกรุงก็เข้าไปในเมือง และพระยากาวิละเจ้าเมืองฝีมือเข้มแข็ง สู้รบพม่ารักษาเมืองอยู่ตั้งแต่เดือนอ้ายจนถึงเดือน ๔ ทัพพม่ามาตั้งล้อมอยู่ถึงสี่เดือนจะหักเอาเมืองนครลำปางมิได้ จนทัพกรุงยกขึ้นไปช่วย ทัพพม่าก็แตกหนีไป กรมหลวงจักรเจษฎาและเจ้าพระยามหาเสนา ก็บอกลงมากราบทูลพระกรุณา ณ กรุงฯ ว่าได้ตีทัพพม่าซึ่งล้อมเมืองนครลำปางนั้นแตกพ่ายไปแล้ว
สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวได้ทรงทราบในหนังสือบอกก็ทรงโสมนัส ดำรัสให้มีตราหากองทัพกลับยังพระมหานคร แล้วพระราชทานบำเหน็จแก่นายทัพนายกองทั้งปวงโดยควรแก่ความชอบ จึงทรงพระกรุณาโปรดให้พระยาอุทัยธรรมเลื่อนที่เป็นเจ้าพระยายมราช โปรดให้พระยาพิพัฒโกษาเลื่อนที่เป็นเจ้าพระยาธรรมาธิบดี แล้วทรงพระราชดำริถึงพระยาธรรมา พระยายมราชนอกราชการซึ่งเป็นโทษในการสงครามถอดเสียนั้นว่า เป็นข้าราชการเก่ารู้ในขนบธรรมเนียมแผ่นดินมาก จึงโปรดตั้งพระยาธรรมาเก่าเป็นพระยาศรีธรรมาธิราชจางวางกรมวัง โปรดตั้งพระยายมราชเก่าเป็นพระยามหาธิราช ช่วยราชการในกรมเมือง ขณะนั้นพระยาเพชรพิชัยหงส์ถึงแก่กรรม จึงโปรดให้พระยาราชสงครามเบาบุตรพระยาราชสงคราม ซึ่งชะลอพระนอนวัดปากโมกครั้งกรุงเก่าเลื่อนที่เป็นพระยาเพชรพิชัยพระราชทานทองทั้งสิ้นด้วยกัน
ฝ่ายกองทัพพม่าซึ่งพระเจ้าอังวะให้ยกลงไปตีหัวเมืองฝ่ายตะวันตกตามชายทะเลนั้น ก็ยกกองทัพบกเรือลงมาพร้อมทัพอยู่ ณ เมืองมฤตแต่ ณ เดือนอ้าย แก่งหวุ่นแมงญีแม่ทัพใหญ่ จึงให้ญีหวุ่นเป็นนายทัพถือพลสามพัน กับนายทัพนายกองทั้งปวง ถือพลสองพันห้าร้อยยกทัพบกมาทางเมืองกระ เมืองระนอง เข้าตีเมืองชุมพร ตัวแก่งหวุ่นแม่ทัพใหญ่ถือพลสี่พันห้าร้อยยกหนุนมา ทั้งสองทัพเป็นคนเจ็ดพัน และทัพหน้ายกเข้าถึงเมืองชุมพร เจ้าเมืองกรมการมีไพร่พลสำหรับเมืองนั้นน้อย เห็นจะต่อรบมิได้ก็เทครัวหนีเข้าป่า ทัพพม่าเข้าเผาเมืองชุมพรเสีย แล้วกองหน้าก็ยกล่วงออกไปตีเมืองไชยาแม่ทัพตั้งค่ายอยู่ ณ เมืองชุมพร และครั้งนั้นทัพกรุงยังหาทันได้ยกออกไปช่วยไม่ ด้วยราชการศึกยังติดพันกันอยู่ทางกาญจนบุรี และเจ้าเมืองกรมการเมืองไชยาได้แจ้งข่าวว่าเมืองชุมพรเสียแล้ว ก็มิได้ตั้งสู้รบ ยกครัวหนีเข้าป่าไปสิ้น ทัพพม่าเข้าเผาเมืองไชยาแล้วก็ยกล่วงออกไปตีเมืองนครศรีธรรมราช
และครั้งเมื่อก่อนพม่ายังไม่ยกมานั้น เจ้าพัดบุตรเขยเจ้านครเข้ามา ณ กรุงฯ กราบทูลฟ้องกล่าวโทษเจ้านครคดีเป็นหลายข้อ ทรงพระกรุณาให้มีตราออกไปหาเจ้านครเข้ามาชำระความกัน โปรดให้เจ้าพระยามหาเสนาเป็นตระลาการ เจ้านครแพ้ความแก่เจ้าพัดบุตรเขย กราบถวายบังคมลาออกจากที่เจ้าเมือง ขออยู่รับราชการในกรุงฯ จึงทรงพระกรุณาโปรดตั้งเจ้าพัดออกไปเป็นเจ้าพระยานครศรีธรรมราชแทน และเจ้านครเก่าอยู่ในกรุงประมาณกึ่งปีก็ถึงแก่กรรม ขณะเมื่อทัพพม่ายกออกไปนั้น เจ้าพระยานครพัดได้แจ้งข่าวว่า เมืองชุมพรเมืองไชยาเสียแล้ว จึงแต่งให้กรมการกับไพร่พันเศษยกมาตั้งค่ายขัดทัพอยู่ ณ ท่าข้ามต่อแดนเมืองไชยา ทัพพม่าจับไทยลาวไชยาได้ ให้ไทยร้องบอกลวงพวกกองทัพเมืองนครว่าเมืองบางกอกเสียแล้ว พวกเอ็งจะมาตั้งสู้รบเห็นจะสู้รบได้แล้วหรือ ให้เร่งไปบอกเจ้านายให้มาอ่อนน้อมยอมเข้าด้วยโดยดีจึงจะรอดชีวิต แม้นขัดแข็งอยู่จะฆ่าเสียให้สิ้นทั้งเมือง แต่ทารกก็มิให้เหลือ พวกกองทัพนครนำเอาเนื้อความไปแจ้งแก่เจ้าพระยานคร เจ้าพระยานครก็พิจารณาเห็นสมคำพม่า ด้วยมิได้เห็นกองทัพกรุงออกมาช่วย เห็นว่ากรุงจะเสียแก่พม่าเสียแล้วหาที่พึ่งมิได้ จึงพาบุตรภรรยาญาติวงศ์สมัครพรรคพวกทั้งปวงหนีออกจากเมืองไปอยู่ ณ ป่านอกเขาข้างตะวันตก บรรดากรมการและไพร่บ้านพลเมืองทั้งปวงก็ยกครอบครัวหนีไปอยู่ตำบลต่าง ๆ ทัพพม่าก็ยกไปถึงเมืองเข้าเมืองได้ ให้เที่ยวจับผู้คนและครอบครัวได้เป็นอันมาก แล้วให้ไทยชาวเมืองนครนำพม่าไปเที่ยวเกลี้ยกล่อมผู้คนและครอบครัวซึ่งหนีไปอยู่ทุกตำบลนั้น ที่เข้าเกลี้ยกล่อมพม่าออกหาก็ได้ตัวมาบ้าง ที่ไม่เข้าเกลี้ยกล่อมหนีเข้าป่าดงไปก็มาก และพวกไทยซึ่งได้ตัวมานั้น บรรดาชายพม่าฆ่าเสียเป็นอันมาก เอาไว้แต่หญิงกับทารก พม่าค้นเก็บเอาเงินทองสิ่งของทั้งปวงไว้ หาผู้ใดจะคิดอ่านสู้รบมิได้ กลัวอำนาจพม่าเสียสิ้นทั้งนั้น พม่าก็ตั้งอยู่ในเมือง คิดจะยกออกไปตีเมืองพัทลุงเมืองสงขลาต่อไป
ฝ่ายญีหวุ่นแม่ทัพเรือพม่า ก็ยกทัพเรือลงไปตีเมืองตะกั่วป่าตะกั่วทุ่งแตกแล้ว ยกไปถึงเกาะถลาง ให้พลทหารขึ้นบกเข้าตั้งค่ายล้อมเมืองถลางไว้เป็นหลายค่าย
ในขณะเมื่อศึกพม่าไปถึงเมืองนั้น พระยาถลางถึงแก่กรรมเสียก่อนแล้ว ยังหาได้ตั้งเจ้าเมืองใหม่ไม่ และภรรยาพระยาถลางกับน้องสาวคนหนึ่งคิดอ่านกับกรมการทั้งปวง เกณฑ์ไพร่พลตั้งค่ายใหญ่สองค่ายป้องกันรักษาเมืองเป็นสามารถ และตัวภรรยาถลางกับน้องสาวนั้นองอาจกล้าหาญ มิได้เกรงกลัวย่อท้อต่อข้าศึก เกณฑ์กรมการกับพลทหารทั้งชายหญิงออกระดมยิงปืนใหญ่น้อยนอกค่ายสู้รบกับพม่าทุกวัน ทัพพม่าจะหักเอาเมืองมิได้ แต่สู้รบกันอยู่ประมาณเดือยเศษ พม่าขัดเสบียงอาหารลงเห็นจะเอาเมืองมิได้ ก็เลิกทัพลงเรือกลับไป
ฝ่ายข้างเมืองพัทลุง ได้แจ้งข่าวว่าเมืองชุมพร เมืองไชยา เมืองนครเสียแก่พม่าแล้ว เจ้าเมืองกรมการทั้งปวงปรึกษากันจะยกครอบครัวหนีเข้าป่า ขณะนั้นมีพระสงฆ์องค์หนึ่งชื่อมหาช่วย เป็นอธิการอยู่ในอารามแขวงเมืองพัทลุง มีความรู้วิชาการดี ชาวเมืองนับถือมาก จึงลงกระตรุดประเจียดมงคลแจกคนทั้งปวงเป็นอันมาก พวกกรมการและนายบ้านนายแขวงทั้งหลายชักชวนไพร่พลเมืองมาขอเครื่องมหาช่วย แล้วคิดกันจะยกเข้ามารบพม่า ผู้คนเข้าด้วยประมาณพันเศษ ตระเตรียมเครื่องศัสตราวุธพร้อมแล้ว ก็เชิญมหาช่วยอาจารย์ขึ้นคานหามมาด้วยในกองทัพ ยกมาจากเมืองพัทลุงมาพักพลตั้งค่ายอยู่กลางทางคอยจะรับทัพพม่าซึ่งจะยกออกไปแต่เมืองนครศรีธรรมราชนั้น
ฝ่ายกองทัพหลวงสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวกรมพระราชวังบวรฯ เสด็จยาตราพลนาวาทัพไปทางท้องทะเลใหญ่ถึงเมืองชุมพร จึงให้ตั้งค่ายหลวงและตำหนักพลับพลา เสด็จขึ้นประทับอยู่ที่นั้น แล้วดำรัสให้พระยากลาโหมราชเสนา พระยาจ่าแสนยากร กองหน้า ยกทัพบกล่วงออกไปตั้งอยู่ ณ เมืองไชยาเป็นหลายค่าย
ฝ่ายกองทัพพม่า ได้แจ้งข่าวว่าทัพกรุงเทพมหานครยกออกมา และแก่งหวุ่นแมงญีแม่ทัพ จึงให้เนมโยคุงนรัดนายทัพนายกอง ๆ หน้า ยกกองทัพกลับเข้ามาต่อรับทัพกรุง แล้วแม่ทัพก็ยกทัพใหญ่หนุนมา และกองหน้าพม่ามาปะทะทัพไทย ณ เมืองไชยายังมิทันจะตั้งค่าย ทัพไทยก็เข้าล้อมไว้รอบขุดสนามเพลาะรบกันกลางแปลงตั้งแต่เช้าจนค่ำ พอฝนห่าใหญ่ตกยิงปืนมิออก ทัพพม่าก็แหกหนีไปได้แต่ตองพยุงโบ่นายทัพคนหนึ่งต้องปืนใหญ่ตายในที่รบ พลทหารไทยไล่ติดตามพม่าไปในเพลากลางคืน ฆ่าฟันพม่าเสียเป็นอันมาก พม่ามิได้รั้งรอต่อรบแตกกระจัดพลัดพรายกันไปสิ้น ที่จับเป็นได้ก็มาก และแม่ทัพพม่าซึ่งยกหนุนมา รู้ว่าทัพหน้าแตกแล้วมิได้ยกมาสู้รบ เร่งรีบบากทางหนีไปข้างตะวันตก กองทัพไทยได้ชัยชนะแล้วก็บอกมากราบทูลยังค่ายหลวง ณ เมืองชุมพร และส่งพม่าเชลยทั้งปวงมาถวาย ขณะนั้นเจ้าเมืองกรมการหัวเมืองใหญ่น้อยทั้งปวง ซึ่งหนีพม่าไปนั้น ก็กลับมาเฝ้าทั้งสิ้น จึงมีพระราชบัณฑูรตรัสสั่งให้รวบรวมราษฎรหัวเมือง และครอบครัวทั้งหลายซึ่งแตกฉานซ่านเซ็นหนีพม่าไปนั้น ให้กลับมาอยู่บ้านเมืองตามภูมิลำเนาดุจก่อน และให้เจ้าเมืองกรมการทั้งปวงไปอยู่รักษาบ้านเมืองของตนไปประทับ ณ เมืองไชยา ให้ทัพหน้าเดินพลไปเมืองนครโดยทางบก แล้วเสด็จยกทัพหลวงไปโดยทางชลมารคมาถึงเมืองนคร เสด็จขึ้นประทับอยู่ในเมือง ให้ชาวเมืองนำข้าหลวงไปสืบเสาะตามหาเจ้าพระยานครศรีธรรมราชได้ตัวมาจะให้ลงโทษ ทรงพระราชดำริเห็นว่าศึกเหลือกำลังจะสู้รบ จึงให้ภาคทัณฑ์ไว้ แล้วให้อยู่รวบรวมราษฎรรักษาบ้านเมืองดังเก่า แล้วเสด็จดำเนินทัพหลวงทั้งทางชลมารคทางสถลมารคไปประทับ ณ เมืองสงขลา จึงพระยาแก้วเการพพิชัยเจ้าเมืองพัทลุง หลวงสุวรรณคีริเจ้าเมืองสงขลาและกรมการทั้งสองเมืองมาเฝ้าพร้อมกัน จึงดำรัสถามว่าผู้ใดคิดสู้รบพม่าบ้าง พระยาพัทลุงกราบทูลว่าได้แต่งกองทัพไปรับพม่ากับมหาช่วยเป็นอาจารย์คุ้มครองไปในกองทัพ ยังหาทันได้สู้รบกันไม่ พม่ามิได้ยกออกไปตีเมืองพัทลุง ยกถอยกลับไปเมืองนคร จึงดำรัสยกความชอบมหาช่วย ว่าเป็นใจด้วยราชการมีความชอบมาก ให้มหาช่วยปริวัติออกแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดตั้งให้เป็นพระยาทุกขราษฎร์ช่วยราชการเมืองพัทลุง พระราชทานบำเหน็จรางวัลโดยควรแก่ความชอบ จึงหลวงสุวรรณคิรีเจ้าเมืองสงชลากราบทูลกล่าวโทษพระยาจนะผู้น้องพระยาพัทลุงเป็นกบฏ แต่งคนให้ถือหนังสือไปเข้าด้วยพม่าจึงดำรัสให้เอาตัวพระยาจนะมาให้พระยาพัทลุงผู้พี่ไต่ถามได้ความเป็นสัตย์ว่าเป็นกบฏจริง จึงให้เอาตัวไปประหารชีวิตเสีย แล้วดำรัสว่าเมืองตานีและเมืองแขกทั้งปวง ยังมิได้มาอ่อนน้อมยอมเป็นข้าขอบขัณฑสีมา ตั้งแข็งเมืองอยู่ จำจะยกทัพหลวงออกไปตีเมืองแขกทั้งปวงมาเป็นเมืองขึ้นอยู่ในพระราชอาณาเขตให้จงได้ จึงดำรัสให้กองหน้ายกออกไปตีหัวเมืองแขกทั้งปวงมีเมืองตานีเป็นต้น ทัพหลวงก็เสด็จยกหนุนไปด้วยเดชะพระราชกฤษฎาธิการ บรรดาเมืองแขกทั้งปวงก็พ่ายแพ้แก่พลข้าหลวงทั้งสิ้นที่สู้รบปราชัยจึงได้เมืองก็มีบ้าง ที่แตกหนีมิได้ต่อรบก็มีบ้าง ที่มาอ่อนน้อมยอมสวามิภักดิ์ก็มีบ้าง และเมืองตานีนั้นเป็นเมืองใหญ่ได้ปืนทองใหญ่ในเมืองสองบอก ทรงพระกรุณาให้เข็นลงในสำเภา และได้เครื่องสรรพศัสตราวุธต่างๆ กับทั้งสรรพวัตถุสิ่งของทองเงินเป็นอันมาก บรรดาเจ้าเมืองกรมการแขกมลายูทั้งปวงนั้น ที่สู้รบตายในที่รบบ้าง จับเป็นได้ฆ่าเสียบ้าง จำไว้บ้าง ที่หนีไปได้บ้าง ที่เข้าสวามิภักดิ์โดยดีก็มิได้ลงโทษบ้าง และพระเดชานุภาพก็ผ่านแผ่ไปในมลายูประเทศทั่วทั้งปวง ขณะนั้นพระยาไทรและพระยากลันตัน พระยาตรังกานู ก็เกรงกลัวพระราชกฤษฎาเดชาธิการ ก็แต่งศรีตะวันกรมการให้คุมเครื่องราชบรรณาการนำมาทูลเกล้าฯ ถวาย ขอเป็นเมืองขึ้นข้าขอบขัณฑสีมา ณ กรุงเทพมหานคร จึงมีพระราชบัณฑูรให้แต่งหนังสือบอกข้อราชการซึ่งได้ชัยชนะแก่พม่าปัจจามิตร และเสด็จไปปราบหัวเมืองแขกปราชัยได้บ้านเมืองเป็นอันมาก ที่มาขอขึ้นก็หลายเมือง ให้ข้าหลวงถือเข้ามากราบทูลพระกรุณาสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชเจ้า ยังกรุงเทพมหานคร
พระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าหลวงได้ทรงทราบก็ทรงพระโสมนัส ดำรัสสรรเสริญพระกฤษฎาเดชานุภาพสมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้า แล้วโปรดให้มีตราตอบออกไปแจ้งข้อราชการซึ่งสมเด็จพระราชดำเนินทัพหลวงขึ้นไปปราบอริราชไพรี ณ หัวเมืองฝ่ายเหนือปราชัยไปสิ้นแล้ว ให้อัญเชิญเสด็จสมเด็จพระบรมราชอนุชาให้ยาตราพยุหทัพหลวงกลับคืนยังพระนคร
สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวกรมพระราชวังบวรฯ ได้ทรงทราบในท้องตราว่ามีพระราชโองการให้หาทัพกลับ จึงดำรัสให้กวาดครอบครัวแขกเชลยทั้งหลายบรรทุกในเรือรบ กับทั้งทรัพย์สิ่งของทองเงินและเครื่องศัสตราวุธต่างๆ และแบ่งให้ครอบครัวแขกทั้งหลายให้ไว้สำหรับบ้านเมืองบ้างทุกๆ เมืองแล้วโปรดตั้งบรรดาขุนนางแขกซึ่งมีใจสวามิภักดิ์เป็นเจ้าเมืองกรมการอยู่รักษาหัวเมืองแขกทั้งปวงซึ่งตีได้นั้น อนึ่ง ทรงทราบว่าธัญญาหารในกรุงยังไม่บริบูรณ์ จึงดำรัสให้ขนข้าวในหัวเมืองแขกทั้งปวงนั้นลงบรรทุกในเรือกองทัพทุกๆลำ เสร็จแล้วจึงให้เลิกกองทัพกลับมาทั้งทางบกทางเรือ มาถึงพระนครในเดือน ๑๑ ปีมะเมีย อัฐศก ศักราช ๑๑๔๘ ปี เสด็จขึ้นเฝ้าสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช กราบทูลแถลงราชกิจการสงครามซึ่งมีชัยชนะ แล้วทูลถวายปืนใหญ่ยาวสามวาศอกคืบสองนิ้วกึ่ง กระสุนสิบเอ็ดนิ้วบอกหนึ่ง ยาวห้าศอกคืบเก้านิ้วกระสุนสามนิ้วกึ่งบอกหนึ่ง ซึ่งได้มาแต่เมืองตานี และครอบครัวแขกและพม่าเชลยกับทั้งเครื่องศัสตราวุธต่างๆ จึงมีพระราชโองการดำรัสให้เจ้าพนักงานลากปืนใหญ่เข้าไว้ ณ โรงในพระราชวัง บอกใหญ่นั้นให้จารึกนามลงกับบอกปืนชื่อพระยาตานี และพม่าเชลยซึ่งจับมานั้น ให้ใส่จำคุกไว้ทั้งสิ้น
ฝ่ายกรมการเมืองถลางครั้นทัพพม่าเลิกกลับไปแล้ว ได้ข่าวว่าทัพหลวงสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวกรมพระราชวังบวรฯ เสด็จพระราชดำเนินออกมาตีทัพพม่าทางบกแตกไปสิ้นแล้ว จึงบอกข้อราชการมากราบทูลขณะเมื่อทัพหลวงยังเสด็จอยู่ ณ เมืองสงขลาฉบับหนึ่ง บอกเข้ามากราบทูล ณ กรุงเทพมหานครฉบับหนึ่ง และขณะเมื่อสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวกรมพระราชวังบวรฯ เสด็จกลับเข้ามาถึงพระนครแล้วสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงจึงมีพระราชโองการโปรดให้มีตราออกไป ณ เมืองถลาง ให้ตั้งกรมการผู้มีความชอบในการสงครามเป็นพระยาถลางขึ้นใหม่ แล้วโปรดตั้งภรรยาพระยาถลางเก่า ซึ่งออกต่อรบพม่านั้น เป็นท้าวเทพกระษัตรี โปรดตั้งน้องสาวนั้นเป็นท้าวศรีสุนทร พระราชทานเครื่องยศโดยควรแก่สตรีออกไปทั้งสองคน สมควรแก่ความชอบในการสงครามนั้น แล้วโปรดตั้งหลวงสุวรรณคิรีเป็นพระยาสงขลา ให้ยกเมืองนั้นเป็นเมืองตรีมาขึ้นกรุงเทพฯ แล้วให้ยกเมืองจนะเมืองเทพามาขึ้นเมืองสงขลาแต่นั้นมา
ฝ่ายกองทัพแก่งหวุ่นแมงญีพม่า ซึ่งแตกไปทั้งทัพบกทัพเรือนั้นก็ไปพร้อมทัพกันอยู่ ณ เมืองมฤต แล้วบอกข้อราชการซึ่งเสียทัพถอยมานั้นขึ้นไปกราบทูลพระเจ้าอังวะ ซึ่งเลิกทัพไปอยู่ ณ เมืองเมาะตะมะ และกองทัพทางทวายและทางเหนือนั้นก็บอกมาทุกทัพทุกทาง และศึกครานั้นพระเจ้าอังวะเสียรี้พลเป็นอันมาก ทั้งไทยจับเป็นไปได้ และตายด้วยป่วยไข้ตายในสงครามทุกทัพทุกทางประมาณกึ่งหนึ่ง ที่เหลือกลับไปได้กึ่งหนึ่ง พระเจ้าอังวะเสียพระทัยนัก จึงให้เลิกทัพหลวงกลับไปเมืองอังวะ แล้วให้มีตราให้หากองทัพทางเหนือทั้งนั้นกลับไปยังเมืองอังวะสิ้น และกองทัพทางทวานั้นให้ยกมาตั้งอยู่ ณ เมืองเมาะตะมะ ทัพทางเมืองมฤตให้ยกมาตั้งอยู่ ณ เมืองทวาย แล้วตรัสปรึกษาราชการกับอินแซะมหาอุปราชดำริราชการสงคราม ซึ่งจะกลับมาตีเอาพระนครศรีอยุธยาให้จงได้ พระเจ้าอังวะจึงให้เกณฑ์กองทัพห้าหมื่น ให้อินแซะเป็นแม่ทัพหลวงยกมาอีกครั้งหนึ่งในปีมะเมีย อัฐศก ครั้นถึง ณ เดือน ๑๒ อินแซะมหาอุปราชก็ถวายบังคมลาพระเจ้าอังวะ ยกทัพบกทัพเรือลงมาพร้อมทัพอยู่ ณ เมืองเมาะตะมะ แต่มาทางเดียว มิได้ยกแยกกันมาหลายทางเหมือนครั้งก่อน อินแซะจึงให้เมี้ยนหวุ่นกับเมี้ยนเมหวุ่นสองนายซึ่งเป็นแม่ทัพหน้าครั้งก่อน ถือพลสามหมื่นยกมาทำราชการแก้ตัวเอาชัยชนะเมืองไทยให้จงได้ และแม่ทัพทั้งสองนายก็ยกกองทัพมาถึงเมืองสมิแล้ว ให้ตั้งค่ายและยุ้งฉางรายทางมาเป็นอันมากจนท่าดินแดงสามสบ แล้วให้กองลำเลียงขนข้าวปลาอาหารมาใส่ยุ้งฉางไว้ทุกตำบล หวังจะมิให้ไพร่พลขัดด้วยเสบียงอาหาร แต่บรรดาค่ายหน้าที่ทั้งปวงนั้นให้ชักปีกกาถึงกันสิ้น แล้วให้ขุดสนามเพลาะปักขวากหนามแน่นหนา บรรดาที่คลองน้ำและห้วยธารทั้งปวงนั้นหมายจะตั้งรบพุ่งอยู่ค้างปี กองทัพหลวงอินแซะก็ยกหนุนมาตั้งค่ายหลวงอยู่ตำบลแม่กษัตริย์ คอยฟังข่าวกองหน้าจะได้เพิ่มเติมทัพมาช่วย
ฝ่ายชาวด่านเมืองกาญจนบุรี เมืองศรีสวัสดิ์ เมืองไชยโยค ออกไปลาดตระเวนสืบราชการ ณ ปลายแดน รู้ว่าทัพพม่ายกมาอีก ตั้งค่ายมั่นอยู่ ณ ท่าดินแดงสามสบ ก็กลับมาแจ้งแก่เจ้าเมืองกรมการทั้งสามหัวเมืองๆ ก็บอกข้อราชการศึกเข้ามายังกรุงเทพมหานครในเดือนอ้าย ข้างแรม กราบทูลพระกรุณาให้ทราบ
พระบามสมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ ได้ทรงทราบข่าวศึกอันยกมานั้น จึงมีพระราชดำรัสให้เกณฑ์กองทัพในกรุงและหัวเมืองไว้ให้พร้อมสรรพ
ครั้นถึง ณ วันพฤหัสบดี ขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๓ เพลาเช้า ๓ นาฬิกากับ ๖ บาท สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ก็เสด็จพระราชดำเนินพยุหบาตรานาวาทัพหลวงจากกรุงเทพมหานครไปโดยทางชลมารค พร้อมด้วยเรือท้าวพระยาข้าทูลละอองธุลีพระบาททั้งหลาย โดยเสด็จตามกระบวนหน้าหลังพรั่งพร้อมเสร็จ โปรดให้สมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรฯ และกองทัพเจ้าพระยารัตนาพิพิธผู้ว่าที่สมุหนายกเป็นกองหน้า พลโยธาหาญทั้งพระราชวังหลวงพระราชวังบวรฯ เป็นคนสามหมื่นยกล่วงไปก่อน จึงเสด็จยกพยุโยธาทัพหลวงกับทั้งกรมพระราชวังหลังและเจ้าต่างกรมทั้งปวงเป็นพลสามหมื่นเศษหนุนไป ครั้งนั้นองเชียงสือก็ตามเสด็จไปด้วยและโปรดให้เจ้าพระยาพลเทพอยู่รักษาพระนคร
ครั้นกองหน้ายกไปถึงเมืองไชยโยค สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวกรมพระราชวังบวรฯ จึงดำรัสให้กองเจ้าพระยารัตนาพิพิธ และกองพระยากลาโหมราชเสนา พระยาจ่าแสนยากรและทัพหัวเมืองทั้งหลายเป็นคนสองหมื่นขึ้นบกยกช้างม้ารี้พลเป็นกองหน้าล่วงไปก่อน แล้วสมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้าจึงเสด็จยาตราทัพพลหมื่นหนึ่งยกหนุนไปโดยลำดับ ครั้นทัพหลวงเสด็จไปถึงตำบลท่าขนุน จึงเสด็จพระราชดำเนินพยุหโยธาทัพไปโดยทางสถลมารค หนุนทัพสมเด็จพระบรมราชอนุชไปในเบื้องหลัง และกองหน้ายกไปถึงค่ายพม่าซึ่งตั้งอยู่ ณ สามสบ ก็ให้ตั้งค่ายลงเป็นหลายค่าย สมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้าก็เสด็จดำเนินกองทัพ หนุนขึ้นไป ตั้งค่ายหลวงห่างค่ายกองหน้าลงมาประมาณห้าสิบเส้น กองทัพหลวงก็เสด็จพระราชดำเนินตามขึ้นไปเบื้องหลัง ตั้งค่ายหลวงห่างค่ายสมเด็จพระบรมราชอนุชาลงมาทางประมาณเจ็ดสิบเส้นเศษ ดำรัสให้ท้าวพระยานายทัพนายกอง แบ่งกองทัพออกจากทัพหลวง ทั้งพระราชวังหลวงวังบวรฯ ยกขึ้นไปบรรจบกองหน้าให้เร่งเข้าตีค่ายพม่าทุกทัพทุกกองพร้อมกันทีเดียว
ครั้นถึง ณ วันพุธ ขึ้น ๔ ค่ำ เดือน ๔ เพลาเช้า จึงท้าวพระยานายทัพนายกองทั้งปวง ก็ยกพลทหารออกระดมตีค่ายพม่าพร้อมกันทุกๆค่าย นายทัพหน้าพม่าก็เร่งพลทหารให้ต่อรบในค่ายทุกๆค่าย พลทัพไทยขุดสนามเพลาะเข้าตั้งประชิดค่ายพม่า ต่างยิงปืนใหญ่น้อยโต้ตอบกันทั้งกลางวันและกลางคืนมิได้หยุดหย่อน เสียงปืนสนั่นสั่นสะเทือนสะท้านไปทั่วทั้งป่า รบอยู่สามวัน ถึง ณ วันศุกร์ ขึ้น ๗ ค่ำ เดือน ๔ พลทัพไทยยกหนุนเนื่องกันเข้าไปหักค่ายปีนพม่าค่ายเย่อค่ายพม่า พม่าต่อรบเป็นสามารถตั้งแต่เพลาบ่ายจนพลบค่ำประมาณสองทุ่มเศษ นายทัพพม่าเห็นเหลือกำลังจะต่อรบต้านทานมิได้ก็แตกฉานทิ้งค่ายพม่าเสียพ่ายหนีไปในกลางคืนวันนั้น กองทัพไทยเข้าค่ายพม่าได้ทั้งสิ้น แล้วยกติดตามไปทันฆ่าฟันพม่าล้มตายและลำบากไปตามทางเป็นอันมาก ที่จับเป็นก็ได้มาก ฝ่ายอินแซะแม่ทัพหลวงได้ทราบว่าทัพหน้าแตกแล้วก็ตกพระทัย มิได้คิดอ่านจะตั้งรอรบ ก็ให้เร่งเลิกทัพหลวงกลับไปยังเมืองเมาะตะมะพลทัพไทยไล่ติดตามพม่าไปจนถึงค่ายหลวงแม่กษัตริย์ เก็บได้เครื่องศัสตราวุธเป็นอันมาก จึงมีพระราขดำรัสให้ข้าหลวงไปสั่งกองหน้าให้จุดกองเพลิงเผายุ้งฉางพม่าซึ่งใส่ข้าวปลาเสบียงอาหารเสียทุกตำบลแล้วก็ให้ถอยทัพกลับมายังกองทัพหลวง และสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ครั้นมีชัยชนะแก่อริราชสงครามพุกามปัจจามิตรเสร็จแล้ว ก็ดำรัสให้เลิกกองทัพทางชลมารคทางสถลมารคกลับคืนยังพระมหานครบวรรัตนโกสินทรมหินทรยุธยา ในแรมเดือน ๔ ปลายปีมะเมีย อัฐศกนั้น
ฝ่ายอินแซะมหาอุปราชเมื่อลาดทัพกลับไปถึงเมืองเมาะตะมะแล้ว จึงบอกข้อราชการซึ่งเสียทัพกลับมานั้นขึ้นไปทูลพระเจ้าอังวะๆ ได้ทราบเสียพระทัยนัก จึงให้กองทัพกลับยังพระนคร แล้วให้มีตราไปถึงอาปรกามนีเจ้าเมืองเชียงแสนให้รักษาเมืองอยู่กับพลพม่าสามพัน แล้วให้ปัญญีเวซอกับลุยตองเวระจอแทง ถือพลสองพันเป็นกองหน้า ให้จอข่องนรทาเป็นโบชุกแม่ทัพถือพลพันห้าร้อย ยกมา ณ เมืองเชียงแสน ให้เกณฑ์อาปรกามนีกับพลสามพันซึ่งรักษาเมืองเชียงแสนอยู่นั้น ให้เข้าบรรจบทัพจอข่องนรทา ยกไปตีเมืองฝางลาวอยู่ฝ่ายตะวันตกเมืองเชียงใหม่ตั้งแข็งเมืองอยู่ ยังมิได้ไปขึ้นแก่เมืองอังวะและอาปรกามนีได้พลพม่ามาเข้ากองทัพจอข่องนรทาแต่ห้าร้อยสิบคน หนีไปจากเมืองเชียงแสนแต่ก่อนนั้นสองพันห้าร้อย และโบชุกจอข่องนรทายกกองทัพไปตีเมืองฝางได้แล้ว ก็ตั้งทำนาสะสมเสบียงอาหารไว้จงมาก อาปรกามนีก็ยกกลับไปเมือง จัดแจงไพร่พลให้ตั้งทำนาอยู่ได้ประมาณเดือนหนึ่ง
ขณะนั้นพระยาแพร่ผู้ชื่อมังชัย พม่าจับตัวไปได้แต่ครั้งทัพอแซหวุ่นกี้ยกมาตีเมืองพระพิษณุโลกคราวก่อนนั้น และครั้งเมื่อสะโดะมหาสิริยอุจนายกทัพมาตีเมืองนครลำปาง และเมืองเหนือทั้งปวงครั้งหลังนี้ก็ได้มากับกองทัพพม่าด้วย ครั้นทัพพม่าแตกกลับไปจึงให้อยู่ ณ เมืองยอง และพระยาแพร่ยังมีจิตคิดสวามิภักดิ์ในสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวกรุงเทพมหานคร มิได้ยอมอยู่เป็นข้าพม่า จึงคิดอ่านชักชวนพระยายองยอมเข้าด้วย แล้วยกกองทัพไปตีเมืองเชียงแสน ฝ่ายอาปรกามนีเจ้าเมืองมีไพร่พลพม่าน้อยตัวเห็นจะรักษาเมืองสู้รบมิได้ จึงพาพรรคพวกหนีมาหาพระยาเชียงราย
พระยาแพร่ พระยายอง ก็ยกติดตามมา ณ เมืองเชียงราย พระยาเชียงรายกลับเข้ากับพระยาแพร่พระยายองยอมเข้าด้วย แล้วยกกองทัพไปตีเมืองเชียงแสน ฝ่ายอาปรกามนีเจ้าเมืองมีไพร่พลพม่ายายอง แล้วบอกส่งมายังพระยากาวิละเจ้าเมืองนครลำปาง เจ้าเมืองลำปางก็บอกส่งพระยาแพร่ พระยายอง กับทั้งจำอาปรกามนีพม่าลงมาถวาย ณ กรุง กราบทูลพระกรุณาให้ทราบว่า พระยาแพร่ซึ่งพม่าจับไปได้นั้น บัดนี้หนีพม่ากลับมาได้แล้วชักชวนพระยายองมาด้วย ทั้งจับตัวอาปรกามนีเจ้าเมืองเชียงแสนมาถวายมีความชอบเป็นอันมาก
พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ ก็ทรงพระโสมนัส ดำรัสให้เอาตัวอาปรกามนีใส่คุกไว้ แล้วพระราชทานบำเหน็จรางวัลแก่พระยาแพร่ พระยายอง สมควรแก่ความชอบ แต่ทรงพระราชดำริยังแคลงพระยาแพร่อยู่ ด้วยตกไปอยู่กับพม่าช้านานแล้วเกรงจะมาเป็นกลอุบาย ครั้นจะให้กลับขึ้นไปครองเมืองแพร่ตามเดิมก็ยังมิวางพระทัย จึงโปรดพระราชทานเคหฐานบ้านเรือนให้อยู่ทำราชการในพระนคร แต่พระยายองนั้นโปรดให้ขึ้นไปอยู่ช่วยราชการพระยากาวิละ ณ เมืองนครลำปาง แล้วสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงจึงมีพระราชดำรัสปรึกษาด้วยสมเด็จพระอนุชาธิราชว่า เมืองเชียงใหม่ยังร้างอยู่หาผู้คนอยู่รักษามิได้ เกลือกพม่าจะมาตั้งอยู่เอาเป็นที่มั่น จึงมีพระราชโองการโปรดให้สมเด็จพระอนุชาธิราชเสด็จขึ้นไปจัดแจงตั้งเมืองเชียงใหม่ ให้เอาพระยากาวิละเจ้าเมืองนครลำปางไปครองเมืองเชียงใหม่ ด้วยเป็นเมืองใหญ่ แล้วพระยากาวิละก็มีฝีมือเข้มแข็งในการสงคราม จะได้ป้องกันรักษาพระราชอาณาเขตในมลาวประเทศฝ่ายตะวันตก อย่าให้ปัจจามิตรมาย่ำยีบีฑาได้ พอมีหนังสือบอกเมืองนครลำปางซ้ำลงมาอีกฉบับหนึ่ง ได้ข่าวว่าจอข่องนรทาแม่ทัพซึ่งตั้งอยู่ ณ เมืองฝาง จะยกกองทัพมาตีเมืองนครเอาตัวอาปรกามนี และ พระยาแพร่ พระยายองให้จงได้ สมเด็จพระอนุชาธิราชกรมพระราชวังบวรฯก็กราบถวายบังคมลาเสด็จยาตราพยุหนาวาทัพจากกรุงเทพมหานคร โดยทางชลมารคขึ้นไปยังเมืองตาก แล้วเสด็จพระราชดำเนินทัพบกไปถึงเมืองนครลำปาง ตั้งค่ายหลวงประทับอยู่นอกเมือง และทัพพม่าก็หายกมาไม่ จึงมีพระราชบัณฑูรให้พระยากาวิละจัดแจงครอบครัวชาวเมืองเชียงใหม่ เดิมซึ่งไปอาศัยอยู่ ณ เมืองนครนั้น ให้ยกกลับขึ้นไปอยู่ ณ เมืองเชียงใหม่ดังเก่า แล้วโปรดตั้งพระยากาวิละให้เป็นพระยาเชียงใหม่ ให้น้อยธรรมผู้น้องที่สองเป็นพระยาอุปราช ให้พุทธสารผู้เป็นญาติวงศ์ของพระยากาวิละฝ่ายข้างมารดารนั้นเป็นพระยาราชวงศ์ ให้ขึ้นไปอยู่รักษาเมืองเชียงใหม่ พระราชทานเครื่องอุโภคบริโภคเป็นอันมาก และพระยาเชียงใหม่ พระยาอุปราช พระยาราชวงศ์ก็กราบถวายบังคมลายกครอบครัวชาวเมืองทั้งปวงขึ้นไปตั้งอยู่ ณ เมืองเชียงใหม่ตามรับสั่ง จึงทรงพระกรุณาโปรดตั้งคำโสมนัสผู้น้องรองพระยากาวิละเป็นพระยานครลำปางแทน ให้คำทิพผู้น้องที่สามเป็นพระยาอุปราช ให้หมูล่าผู้น้องที่สี่เป็นพระยาราชวงศ์อยู่รักษาเมืองนครสืบไป พระราชทานเครื่องอุปโภคบริโภคเหมือนดังเมืองเชียงใหม่นั้น แต่เมืองลำพูนยังว่างอยู่ ด้วยผู้คนยังเบาบางระส่ำระสาย จะแบ่งได้ตั้งยังมิได้ก่อน
ฝ่ายข้างกรุงเทพมหานคร ในปลายปีมะแม นพศกนั้น สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงพระราชดำริจะเสด็จพระราชดำเนินทัพหลวงไปตีเมืองทวาย จึงดำรัสให้เกณฑ์กองทัพไว้ให้พร้อมสรรพ
ครั้นถึง ณ วันเสาร์ ขึ้น ๕ ค่ำ เดือนยี่ เพลา ๓ โมงเช้า ๔ บาท ได้มหาพิชัยมงคลมหุติฤกษ์จึงพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงก็เสด็จยกพยุหบาตรนาวาทัพหลวงจากกรุงเทพมหานครโดยทางชลมารค และพลโยธาหาญในกระบวนทัพหลวงครานั้นสองหมื่นเศษ พร้อมด้วยเรือพระราชวงศานุวงศ์และเรือท้าวพระยาข้าทูลละอองธุลีพระยาททั้งหลาย โดยเสด็จพระราชดำเนินเป็นอันมาก ดำรัสให้เจ้าพระยารัตนาพิพิธ เจ้าพระยามหาเสนา เจ้าพระยายมราช เป็นกองหน้า เต้าพระยาพระคลังเป็นเกียกกาย สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทรเป็นยกกระบัตร สมเด็จพระเจ้าหลานเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์เป็นทัพหลัง เด็จประทับร้อนแรมไปตามระยะทางชลมารคถึงท่าตะกั่วแม่น้ำน้อย จึงเสด็จขึ้นประทับ ณ พระตำหนักค่ายซึ่งกองหน้าตั้งไว้รับเสด็จ แล้วดำรัสให้กองหน้ากองหนุนเป็นคนหมื่นหนึ่งยกล่วงไปก่อน และครั้งนั้นเดินทัพไปทางเขาสูงข้ามเขาไปลงด่านวังปอ ทัพหลวงจึงเสด็จพระราชดำเนินตามไป สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวเสด็จทรงช้างต้นพังเทพลีลาเป็นพระคชาธารผูกพระขนัด และพลอัสดรดุรงค์เรียบเรียงโดยหยุหบาตราหน้าหลัง คับคั่งทั้งพลบทจรเดินเท้าแปดพันเศษล้วนสวมใส่ยุทธอาภรณ์ กรกุมอเนกวิธอาวุธโห่ร้องกึกก้องท้องทุรัถยานาสณฑ์ เคลื่อนพหลพยุหโยธาทัพไปโดยลำดับแถวเถื่อนสถลมารควิถีไพร ให้ตั้งค่ายและพลับพลาหยุดประทับร้อนแรมไปตามระยะทางนั้น
ครั้งนั้นฝ่ายข้างเมืองทวาย พระเจ้าอังวะตั้งแมงแกงซาบุตรเมฆราโบลงมาเป็นเจ้าเมือง อนึ่งกองทัพพม่าซึ่งยกลงไปทางเมืองมฤตแต่ครั้งก่อนนั้นก็ยังพร้อมกันอยู่ ณ เมืองทวายสิ้น ครั้นทวายหวุ่นกับแก่งหวุ่นแมงญีแม่ทัพและนายทัพนายกองทั้งปวงได้แจ้งว่า กองทัพไทยยกมาทางด่านวังปอเขาสูงจะตีเมืองแม่ทัพจึงแต่งให้นัดมิแลงถือพลสามพันยกมาตั้งค่ายรับอยู่ ณ วังปอทัพหนึ่ง แล้วให้ทวายหวุ่นเจ้าเมืองทวายถือพลสี่พัน ยกมาตั้งค่ายรับอยู่ ณ เมืองกลิอ่องเหนือเมืองทวายทัพหนึ่ง แล้วให้ตั้งค่ายปีกกาสกัดท้องทุ่ง ทางซึ่งจะมาแต่เมืองกลิอ่องถึงเมืองทวาย เกณฑ์ให้นายทัพนายกองทั้งปวงยกพลทหารห้าพันออกไปตั้งรับอยู่อีกตำบลหนึ่ง แล้วจัดแจงพลทหารทั้งพม่าและทวายชาวเมืองขึ้นประจำรักษาหน้าที่เชิงเทินกำแพงเมืองโดยรอบ กอปรด้วยเครื่องสรรพาวุธปืนใหญ่น้อยพร้อมสรรพ และตัวแก่งหวุ่นแมงญีแม่ทัพนั้นตั้งมั่นรักษาอยู่ในเมืองจัดแจงการป้องกันเมืองเป็นสามารถ แล้วบอกหนังสือขึ้นไปทูลพระเจ้าอังวะว่าพระเจ้ากรุงศรีอยุธยายกกองทัพหลวงมาตีเมืองทวาย
ฝ่ายเจ้าพระยารัตนาพิพิธแม่ทัพหน้าเดินทัพข้ามเขาสูงไป จึงให้พระยาสุรเสนา พระยามหาอำมาตย์ และท้าวพระยานายทัพนายกอวเป็นหลายนายคุมพลทหารห้าพันล่วงหน้าไปก่อน ลงตกเชิงเขาสูงข้างโน้นถึงค่ายวังปอซึ่งทัพพม่าตั้งรับอยู่นั้น จึงพระยาสุรเสนา พระยามหาอำมาตย์ นายกองหน้าก็ให้ตั้งค่ายลงเป็นหลายค่ายเข้าประชิดค่ายพม่า พม่าก็ยิงปืนใหญ่น้อยออกจากค่าย
ครั้นถึง ณ วันศุกร์ ขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๓ เพลาเช้า จึงพระเสนานนท์กับขุนหมื่นและไพร่ในกองยกเข้าปล้นค่ายพม่า พม่ายิงปืนนกสับออกมาแต่ในค่ายต้องต้นขาเบื้องซ้ายพระเสนานนท์ พลทหารเข้าช่วยพยุงถอยออกมาเข้าค่าย จึงพระมหาอำมาตย์ก็ขับพลทหารหนุนเข้าไปปล้นค่ายพม่าๆ ต่อรบเป็นสามารถ จะหักเอาค่ายมิได้ก็ถอยออกมา แต่ยกเข้าปล้นดังนั้นเป็นหลายวัน เสียพระยาสุรเสนาและพระยาสมบัติบาลต้องปืนข้าศึกตายในที่รบ
ครั้น ณ วันอาทิตย์ แรม ๑๐ ค่ำ เดือน ๓ จึงเจ้าพระยารัตนาพิพิธ เจ้าพระยามหาเสนาก็ยกพลทหารหนุนไปช่วยกองหน้าเข้าระดมตีค่ายพม่า พม่าต่อรบเป็นสามารถ รบกันตั้งแต่เช้าจนค่ำพลทัพไทยยกหนุนเนื่องกันเข้าไปมิได้ท้อถอยบ้างเย่อค่ายปีนค่าย พม่าสู้รบอยู่หลายเพลาประมาณยามหนึ่งนัดมิแลงนายทัพเห็นเหลือกำลังจะต้านทานมิได้ ก็พาพลทหารแตกออกข้างหลังค่ายพ่ายหนีไป ณ ค่ายเมืองกลิอ่อง กองทัพไทยก็ได้ค่ายวังปอ แล้วให้ม้าใช้รีบลงมากราบทูลพระกรุณายังทัพหลวง แล้วตั้งพักรี้พลอยู่ค่ายวังปอสองวัน
ครั้นถึง ณ วันพุธ แรม ๑๓ ค่ำ เดือน ๓ กองทัพหน้าจึงยกตามลงไปถึงค่ายเมืองกลิอ่องเข้าตั้งค่ายติดเมืองกลิอ่อง ฝ่ายทัพหลวงก็เสด็จขึ้นข้ามเขาสูงหนุนไป และเขานั้นชันนัก จะทรงช้างพระที่นั่งขึ้นไปมิได้ สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวดำรัสให้ผูกร่าว แล้วทรมานพระกาย เสด็จพระราชดำเนินด้วยพระบาทยุดราวขึ้นไปตั้งแต่เชิงเขาแต่ช้าจนเที่ยงจึงถึงยอด และช้างซึ่งขึ้นเขานั้นเอางวงยึดต้นไม้จึงเหนี่ยวกายขึ้นไปได้ลำบากนัก จึงมีพระราชดำรัสว่า ไม่รู้ว่าทางนี้เดินยากพาลูกหลานมาได้ความลำบากยิ่งนัก เมื่อจะลงไปเชิงเขาข้างโน้นก็ต้องเสด็จพระราชดำเนินยึดราวลงไปเหมือนกัน ครั้นกองทัพหลวงยกข้ามเขาสูงล่วงพ้นไปแล้ว จึงเสด็จยั้งทัพหลวงหยุดประทับแรมอยู่ ณ ค่ายวังปอ ให้ตำรวจไปเร่งกองหน้าให้ตีเมืองกลิอ่องให้แตกโดยเร็ว เจ้าพระยารัตนาพิพิธ เจ้าพระยามหาเสนา เจ้าพระยายมราชก็ขับพลทหารเข้าหักค่ายเมืองกลิอ่อง พม่าต่อรบเป็นสามารถ และรบกันทั้งกลางวันกลางคืน เสียงปืนยิงโต้ตอบกันมิได้หยุดหย่อน ถึง ณ วันเสาร์ ขึ้น ๒ ค่ำ เดือน ๔ เพลากลางคืนยามเศษ เจ้าเมืองทวายและนัดมิแลงเห็นเหลือกำลังจะต้านทานต่อรบ ก็แหกหนีออกทางหลังค่ายแตกพ่ายลงไป ณ เมืองทวาย กองทัพไทยก็ได้ค่ายเมืองกลิอ่องให้หยุดพักพลจัดแจงเสบียงอาหารอยู่ที่นั้นหลายวัน แต่งให้กองสอดแนมลงไปสืบแจ้งว่า พม่าตั้งค่ายปีกกาสกัดท้องทุ่งคอยรับอยู่กลางทางซึ่งจะลงไปเมืองทวาย จึงบอกไปกรบทูลพระกรุณายังทัพหลวง ณ ค่ายวังปอ จึงมีพระราชดำรัสให้กองหน้าตรวจเตรียมรี้พลจงกวดขันทุกทัพทุกกอง อย่าประมาทให้เสียทีแก่ข้าศึก ให้ยกไปตีค่ายปีกกาพม่าให้แตกในวันเดียว แม้นล่วงวันจะไปเอาโทษนายทัพนายกองถึงสิ้นชีวิต
ครั้นถึง ณ วันศุกร์ แรม ๘ ค่ำ เดือน ๔ เพลาเช้า แม่กองหน้าก็ยกพลทหารลงไปตีค่ายปีกกาและท้าวพระยานายทัพนายกองทั้งหลายกั้นสัปทนแดงดาดไปทั้งท้องทุ่ง พม่าก็ยิงปืนใหญ่น้อยออกจากค่ายปีกกาทุกหน้าที่ รบกันตั้งแต่เช้าจนเพลาพลบค่ำ พลทหารไทยเยียดยัดหนุนเนื่องกันเข้าไปมิได้ท้อถอย บ้างปีนค่ายเย่อค่ายต่อรบกันถึงอาวุธสั้น พลพม่าสู้รบต้านทานมิได้เหลือกำลังก็แตกฉานพ่ายหนีเข้าเมือง พลทัพไทนตีค่ายปีกกาแตกแล้วก็ยกติดตามลงไป ณ เมืองทวายในเพลากลางคืนวันนั้น
ฝ่ายนายทัพนายกองพม่าเห็นว่าทัพไทยยั้งอยู่มิได้เข้าเมือง แล้วก็ผ่อนกันกลับเข้ามาในเมืองเกณฑ์พลทหารขึ้นรักษาหน้าที่เชิงเทินกำแพงเมืองเป็นสามารถ
ฝ่ายทัพหลวงก็เสด็จพระราชดำเนินยกตามกองหน้า เข้าไปตั้งค่ายหลวงใกล้เคียง ห่างค่ายกองหน้าซึ่งตั้งล้อมเมืองออกมาประมาณห้าสิบเส้น ดำรัสให้กองสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร ยกไปตั้งค่ายใหญ่หนุนค่ายกองหน้าอยู่หน้าค่ายหลวง ขณะนั้นช้างต้นพังเทพลีลาซึ่งเป็นพระคชาธารนั้นป่วยลง ไม่จับหญ้าถึงสามวัน สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทรงพระวิตกหนัก ด้วยเป็นช้างพระที่นั่งข้าหลวงเดิมได้เคยทรงเสด็จไปงานพระราชสงครามมาแต่ก่อนทุกครั้ง ทรงพระอาลัยว่าเป็นพาหนะเพื่อนทุกข์เพื่อนยากเกรงจะล้มเสีย จึงทรงพระอธิษฐานเสกข้าวปั้นให้ช้างกิน ด้วยเดชะพระบารมีเป็นมหัศจรรย์ ช้างนั้นก็หายไข้เป็นปรกติ สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวดีพระทัยยิ่งนัก
ฝ่ายนายทัพนายกองพม่า ซึ่งตั้งรักษาเมืองทวายอยู่นั้น เกรงกลัวพระเดชานุภาพเป็นกำลังมิได้ยกพลทหารออกมาต่อรบนอกเมืองนิ่งรักษาเมืองมั่นอยู่ แต่กองทัพไทยตั้งล้อมเมืองอยู่ถึงกึ่งเดือนเสบียงอาหารก็เบาบางลง ขณะนั้นจึงเจ้าอินซึ่งเป็นบุตรพระเจ้าล้านช้างเก่า จึงกราบทูลพระกรุณาขออาสาจะยกเข้าปีนปล้นเอาเมือง มีพระราชโองการตรัสห้ามว่าทัพหลวงตั้งใกล้เมืองนัก เกรงจะไม่สมคะเนลาดถอยออกมา ข้าศึกได้ทีจะยกออกจากเมืองไล่ติดตามกระทั่งปะทะถึงค่ายหลวง จะเสียทีเหมือนเมื่อครั้งยกทัพไปตีเมืองเชียงใหม่ครั้งก่อน ภายหลังพระยาสีหราชเดโชและท้าวพระยานายทัพนายกองเป็นหลายนาย กราบบังคมทูลขออาสาจะเข้าปล้นเอาเมือง ก็ดำรัสห้ามเสียเหมือนดังนั้น พอเสบียงอาหารขัดลงอก็ดำรัสให้เลิกทัพหลวงถอยออกมาทางถม่องสาย ให้กองทัพหน้ารอรั้งมาเบื้องหลัง พม่าก็ยกทัพมาติดตาม กองหน้าก็รอรบมาจนสิ้นแดนเมืองทวาย
ในขณะนั้น ฝ่ายสมเด็จพระอนุชาธิราชกรมพระวังบวรฯ ได้ทรงทราบว่าสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จพระราชดำเนินพยุหโยธาทัพออกไปตีเมืองทวาย ก็เสด็จยาตราทัพจากเมืองนครลำปางกลับมายังพระนคร แล้วเสด็จโดยทางชลมารคออกไปตามเสด็จสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชเจ้าถึงแม่น้ำน้อย พอทัพหลวงเสด็จกลับมาถึงพระตำหนักค่ายท่าเรือ ก็เสด็จขึ้นไปเฝ้ากราบบังคมทูลว่า ขออัญเชิญเสด็จพระราชดำเนินคืนยังพระนครเถิด ข้าพระพุทธเจ้าหลวงก็ทรงเห็นชอบดด้วย จึงเสด็จกรีธานาวาทัพกลับคืนยังกรุงเทพมหานคร
ฝ่ายกองทัพพม่ายกติดตามมาพอสิ้นแดนเมืองทวายแล้วก็ยั้งทัพอยู่มิได้ล่วงเข้ามาในพระราชอาณาเขต ก็เลิกทัพกลับไปเมืองทวาย สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวกรมพระราชวังบวรฯ ก็ทรงจัดแจงให้พลเมืองอยู่รักษาด่านทางมั่นคงแล้ว ก็เสด็จกองทัพกลับยังพระมหานคร